Wednesday, May 04, 2005

THE RASPBERRY REICH

THE RASPBERRY REICH (2004, BRUCE LABRUCE) หนังเกย์แคนาดาเกี่ยวกับนักปฏิวัติ

THE RASPBERRY REICH เป็นผลงานการกำกับของบรูซ ลาบรูซ เจ้าพ่อหนังเกย์ของแคนาดา ที่เคยฝากผลงานที่น่าสนใจอย่าง HUSTLER WHITE, SKIN FLICK, SUPER 8 1 / 2 และ NO SKIN OFF MY ASS ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

THE RASPBERRY REICH ผสมผสานหนังเสียดสีการเมือง, หนังวิจารณ์สังคม, หนังตลก และหนังโป๊เอาไว้ด้วยกัน โดยหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับกุดรุน (Susanne Sachsse) หญิงสาวที่เป็นผู้นำกลุ่มปฏิวัติ โดยเธอตั้งเป้าที่จะปลดปล่อยประชาชนให้เป็นอิสระจากการกดขี่ทางเพศ, ทางการเมือง และทางสังคม เธอกับลูกสมุนของเธอวางแผนจะลักพาตัวบุตรชายของเศรษฐีนักอุตสาหกรรม (Andreas Rupprecht) และเธอก็กระตุ้นให้สมุนชายของเธอมีความสัมพันธ์ทางเพศกันเองด้วย เพราะเธออ้างว่า “Heterosexuality is the opiate of the masses.” (เดาว่าน่าจะแปลว่า “ความสัมพันธ์แบบชายหญิงคือสิ่งที่ใช้มอมเมามวลชน”)

นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิวัติทางเพศและทางการเมืองของกุดรุนตรงจุดนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง NUMERO DEUX (1975, JEAN-LUC GODARD) ที่ระบุว่า “the sexual is also political.”

อย่างไรก็ดี การกระตุ้นของกุดรุนก่อให้เกิดผลที่ไม่คาดคิด เพราะสมุนชายหนุ่มของเธอเกิดตกหลุมรักกันเอง และนั่นยิ่งทำให้กุดรุนโมโหหนักยิ่งขึ้น

หนังเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนหนังหลายๆเรื่องของบรูซ ลาบรูซ นั่นก็คือเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน, มีการตัดต่อที่สร้างความรู้สึกไม่ต่อเนื่อง, มีการใช้ดนตรีเทคโนห่วยๆ, คุณภาพการบันทึกเสียงแบบขอไปที และการแสดงที่ตรงข้ามกับคำว่าความสมจริง อย่างไรก็ดี ความลักลั่นพิกลพิการของหนังเรื่องนี้เป็นจุดประสงค์ของผู้กำกับอยู่แล้ว

ประโยคเด็ดๆที่กุดรุนพูดในหนังเรื่องนี้รวมถึงประโยคเช่น “The Revolution is my boyfriend.” และ “Death to the fascist insect that preys on the life of the people” และประโยคบนเสื้อยืดที่ว่า “Put your Marxism where your mouth is.”

ในขณะที่ THE RASPBERRY REICH มีเนื้อหาล้อเลียนกลุ่มซ้ายจัด ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังเรื่อง SKIN FLICK ของบรูซ ลาบรูซ ก็เคยล้อเลียนกลุ่มนีโอนาซีขวาจัดมาแล้ว

THE RASPBERRY REICH เต็มไปด้วยเซ็กส์, ปืน, ภาพของนักปฏิวัติ, ภาพของนักการเมือง, คำพูดโฆษณาชวนเชื่อ และคำพูดแนวสั่งสอนประชาชน และมีการพาดพิงไปถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีตัวตนจริงที่น่าสนใจหลายคนด้วยกัน ซึ่งรวมถึง

(1) กลุ่มบาเดอร์-ไมน์ฮอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในเยอรมันตะวันตกในทศวรรษ 1960-1970 โดยบุคคลกลุ่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้มีการสร้างหนังหลายเรื่องตามมา และถ้าเข้าใจไม่ผิด ตัวละครใน THE EDUKATORS (2004, HANS WEINGARTNER, B+) ก็พูดพาดพิงถึงบาเดอร์-ไมน์ฮอฟด้วย

(2) THE SYMBIONESE LIBERATION ARMY หรือ SLA

กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้โด่งดังมาจากการลักพาตัวแพทที เฮิร์สท์ ลูกสาวเศรษฐีในปี 1974 โดยชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้รับการนำเสนอไว้ในหนังสารคดีเรื่อง NEVERLAND: THE RISE AND FALL OF THE SYMBIONESE LIBERATION ARMY (2004, ROBERT STONE) ที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2004

แพตตี เฮิร์สท์เป็นหลานสาวของวิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สท์ เศรษฐีที่เป็นแรงบันดาลใจให้มีการสร้างหนังเรื่อง CITIZEN KANE ทั้งนี้ หลังจากเฮิร์สท์ถูกลักพาตัวไประยะหนึ่ง เธอก็เริ่มแสดงอาการ Stockholm Syndrome ซึ่งก็คืออาการที่นักโทษเริ่มเห็นอกเห็นใจผู้คุมขังและหันมาเป็นฝ่ายเดียวกับผู้คุมขัง โดยเฮิร์สท์หันมาใช้ชื่อใหม่ว่า “ทาเนีย” และเข้าร่วมในการปล้นธนาคารครั้งหนึ่งซึ่งส่งผลให้มีพนักงานธนาคารคนหนึ่งเสียชีวิต

ทางการสหรัฐสืบหาตัวกลุ่ม SLA จนพบรังของพวกเขาในลอสแองเจลิส เกิดการปะทะกันระหว่าง SLA กับจนท.รัฐบาล เฮิร์สท์รอดชีวิตมาได้ เธอติดคุกอยู่พักหนึ่ง และพอเธอออกจากคุก เธอก็หันมาเล่นหนังของจอห์น วอเตอร์สเรื่อง CRY-BABY (1990, A+/A), SERIAL MOM (1994), PECKER (1998) และ CECIL B. DEMENTED (2000)

อ่านข้อมูลของหนังเรื่อง NEVERLAND: THE RISE AND FALL OF THE SYMBIONESE LIBERATION ARMY ได้ที่
http://www.imdb.com/title/tt0390299/

โรเบิร์ต สโตน ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่องนี้เคยกำกับหนังเรื่อง AMERICAN BABYLON (2000), WORLD WAR THREE (1998), “FAREWELL, GOOD BROTHERS” (1992), THE SATELLITE SKY (1990) และ RADIO BIKINI (1987)

(3) CHE GUEVARA พระเอกของ THE MOTORCYCLE DIARIES (2004, WALTER SALLES, A-)

(4) THE WEATHERMEN ซึ่งชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้รับการนำเสนอในหนังสารคดีเรื่อง THE WEATHER UNDERGROUND ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์

ดูข้อมูลเกี่ยวกับ THE WEATHER UNDERGROUND ที่กำกับโดยแซม กรีน และบิล ซีเกลได้ที่http://www.imdb.com/title/tt0343168/

ลาบรูซกล่าวในเว็บไซท์ http://www.eye.net ว่า “เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากที่โลกตะวันตกถดถอยลงมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผมไม่คิดว่าประชาชนสามารถที่จะถอยหลังกลับไปเข้าใจคนรุ่นนั้นได้อีก และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ผมสร้างหนังเรื่องนี้ ผมสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อนำไอเดียของคนรุ่น 30 ปีที่แล้วมาแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกันอีกครั้ง ผมจะนำประกาศของ SYMBIONESE LIBERATION ARMY มาแปะไว้ที่หน้าจอภาพยนตร์ และถ้าหากคุณไม่รู้ว่ามันมาจากกลุ่มก่อการร้าย ประโยคนั้นก็จะดูเหมือนเป็นประโยคของฝ่ายซ้ายหัวเก่าที่ฟังดูดี, มีเหตุมีผล, เกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นฐาน, เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคมและทางการเมือง และความเสมอภาค ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นที่คนรุ่นปัจจุบันนำมาพูดคุยกันอีกต่อไป”

จุดเด่นอีกจุดของ THE RASPBERRY REICH คือการที่บรูซ ลาบรูซใส่ “ข้อความที่เป็นตัวอักษร” มากมายแทรกเข้ามาในเรื่อง ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับหนังของฌอง-ลุค โกดาร์ด โดยลาบรูซกล่าวถึงเรื่องที่เขาใส่ข้อความในหนังของตัวเองว่า

“ในขณะที่นิยายยุคปัจจุบันหลายเรื่องทำตัวเป็นไฮเปอร์-โพสท์โมเดิร์น ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมหนังถึงไม่ทำอย่างนั้นบ้าง บางทีมันอาจจะเป็นเพราะว่า “การเล่าเรื่อง” ได้กลายเป็นเจ้าโลกผู้ยิ่งใหญ่ไปแล้ว และผู้ชมมักจะรู้สึกโกรธเมื่อคุณขัดขวางภาพมายาของเรื่องเล่า พวกเขาโกรธคุณอย่างรุนแรงอยู่ในใจ คนบางคนไปดูหนังเพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงและต้องการอยู่กับภาพมายา พวกเขาไม่ต้องการให้หนังเตือนพวกเขาว่าพวกเขากำลังดูหนังอยู่หรือเตือนพวกเขาว่าพวกเขาน่าจะคิดถึงเรื่องอื่นๆขณะที่ดูหนังไปด้วย” บรูซ ลาบรูซกล่าว

บรูซ ลาบรูซกล่าวอีกด้วยว่าขณะที่เขาทำโพสท์โปรดักชันของ The Raspberry Reich ที่กรุงเบอร์ลิน เขาก็ได้พบกับเฟลิกซ์ เอนส์ลิน ซึ่งเป็นบุตรชายของกุดรุน เอนส์ลินตัวจริง โดยเฟลิกซ์รู้สึกสนใจในแนวคิดของลาบรูซเกี่ยวกับการปฏิวัติทางเพศ และกล่าวว่าแนวคิดของลาบรูซสอดคล้องกับความเชื่อของกุดรุน เอนส์ลินและพรรคพวกของแม่ของเขา

อ่านบทสัมภาษณ์บรูซ ลาบรูซ เกี่ยวกับ THE RASPBERRY REICH ได้ที่http://www.baader-meinhof.com/special/LaBruceInterview.htm

หนังเกี่ยวกับกลุ่มหนุ่มสาวหัวขบถที่อาจจะพอนำมาดูควบกับ THE RASPBERRY REICH ได้รวมถึงเรื่อง

(1) LA CHINOISE (JEAN-LUC GODARD, A+)

หนังเล่าเรื่องของหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่มาชุมนุมกันที่บ้านเพื่อนและถกเถียงด่าทอเรื่องการเมืองบวกกับเล่นเกมกัน หนังเน้นความคิดเห็นที่แตกแยกระหว่างกลุ่มที่ชื่นชมจีนกับกลุ่มที่ชื่นชมสหภาพโซเวียตในยุคนั้น

หนังเรื่องนี้นำแสดงโดยฌอง-ปิแอร์ เลโอด์ ที่หล่อน่ารักมาก (เขารับบทเป็น “อังตวน ดัวเนล” ในหนังชุดของฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์) และฉากเด่นในเรื่องนี้คือฉากที่ตัวละครหญิงคนหนึ่ง (แอนน์ เวียเซมสกี จาก “AU HASARD, BALTHAZAR”) เจอกับอาจารย์บนรถไฟและพูดคุยเรื่องการเมืองบนรถไฟขบวนนั้น โดยคนที่มาแสดงเป็นอาจารย์ในฉากนี้เป็นอาจารย์ของ ANNE WIAZEMSKY จริงๆ


(2) ZABRISKIE POINT (1970, MICHELANGELO ANTONIONI, A+) ที่นำแสดงโดยมาร์ค เฟรเชทท์ พระเอกหนุ่มที่หล่อมากๆ

(3) TOGETHER (ลูคัส มูดิสสัน, A+)หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชายหญิงที่มาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน

(4) THE DREAMERS (BERNARDO BERTOLUCCI, A+)

(5) IF… (1969, LINDSAY ANDERSON, A+/A)
หนังตลกร้ายเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนที่ลุกขึ้นต่อต้านกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด โดยมีมัลคอล์ม แมคโดเวลล์ (In Good Company) นำแสดง และดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง ZERO FOR CONDUCT (1933, JEAN VIGO, A+)

ทั้งใน IF… และ ZERO FOR CONDUCT จะมีตัวละครนักเรียนชายคู่หนึ่งที่มีความสัมพันธ์ส่อไปในทางโฮโมเซ็กชวลด้วย

(6) CHILDREN OF THE REVOLUTION (1996, Peter Duncan, A-/B+) นำแสดงโดยจูดี เดวิสในบทของผู้หญิงที่คลั่งไคล้สตาลินอย่างรุนแรง โดยมี RICHARD ROXBURGH, SAM NEILL, GEOFFREY RUSH, RACHEL GRIFFITHS และ F. MURRAY ABRAHAM ร่วมแสดง
http://movie-reviews.colossus.net/movies/c/children.html

(7) PATTY HEARST (1988, พอล ชเรเดอร์)
นาตาชา ริชาร์ดสัน ซึ่งเป็นลูกสาวของวาเนสซา เรดเกรฟกับโทนี ริชาร์ดสัน แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมมากในบทของแพทที เฮิร์สท์ในหนังเรื่องนี้ ในขณะที่วิลเลียม ฟอร์ไซธ์ กับฟรานเซส ฟิชเชอร์ (Titanic) ก็แสดงในหนังเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน

No comments: