Monday, May 01, 2006

DEATH IN THE SEINE (PETER GREENAWAY)

8.เมืองในหมอก

ดิฉันชอบบทแม่กับลูกสาวในหนังเรื่องนี้มากเลยค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าดาราที่รับบทแม่กับลูกสาวในหนังเรื่องนี้คือคุณสุพรรณ บูรณะพิมพ์กับคุณปาริชาติ บริสุทธิ์หรือเปล่า ดิฉันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ค่ะ และก็ไม่รู้ชื่อผู้กำกับหนังเรื่องนี้ด้วย

แม่กับลูกสาวในหนังเรื่องนี้เป็นฆาตกรใจโหดที่ฆ่าแขกที่มาพักในโรงแรมตายไปหลายคน และทั้งสองก็วางแผนจะฆ่าผู้ชายคนหนึ่งโดยที่ไม่รู้ความจริงว่าผู้ชายคนนั้นเป็นลูกชายหรือพี่ชายของตัวเองที่พลัดพรากจากกันไปนาน

สิ่งที่ทำให้ดิฉันชอบหนังเรื่องนี้มากก็คือมีแขกคนหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่ทั้งสองฆ่าไม่สำเร็จ โดยแขกคนนั้นเป็นสาวเซ็กส์ที่ชอบพฤติกรรม swinging ทั้งนี้ โดยปกติแล้วในหนังฆาตกรโรคจิตของสหรัฐ ตัวละครที่รอดชีวิตมักจะเป็นสาวเรียบร้อยหรือสาวรักเดียวใจเดียว แต่ใน “เมืองในหมอก” ตัวละครที่รอดชีวิตกลับเป็นสาวบ้าเซ็กส์ นั่นทำให้หนังเรื่องนี้น่าทึ่งอย่างมากๆ

“เมืองในหมอก” ถือเป็นหนังไทยยุคก่อนทศวรรษ 1990 ที่ดิฉันชอบมากที่สุดค่ะ และฉากเปิดของหนังเรื่องนี้ซึ่งเป็นฉากรำพึงรำพันของลูกสาว ก็ถือเป็นหนึ่งในฉากเปิดหนังไทยที่ดิฉันชอบมากที่สุดด้วย (ฉากเปิดของหนังไทยอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันชอบสุดขีดคือฉากแนะนำตัวละครหญิงคนหนึ่งที่เป็นนักร้องใน “ประสาท” โดยตัวละครตัวนี้ยืนอยู่ท่ามกลางความมืด แล้วอยู่ดีๆก็มีไฟส่องโช๊ะเด๊ะมาลงที่หัวเธอพอดี)


9. Master of the Game (1984, เควิน คอนเนอร์, ฮาร์วีย์ ฮาร์ท)

มินิซีรีส์เรื่องนี้เคยมาฉายทางช่อง 3 และแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ โดยส่วนแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับเจมี แมคเกรเกอร์ (เอียน ชาร์ลสัน) ชายหนุ่มที่ไปขุดเพชรในแอฟริกาใต้จนร่ำรวยขึ้นมา ส่วนที่สองเกี่ยวกับแคทเธอรีน แบล็คเวล (ไดแอน แคนนอน) ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ชายคนนี้ เธอเป็นนักธุรกิจหญิงที่ร่ำรวยมหาศาล เธอเป็นคนบ้าเงิน, ละโมบ และชอบบงการคนอื่นๆ แต่การที่เธอพยายามเข้าไปบงการชีวิตของลูกชายหนุ่มหล่อ (แฮร์รี แฮมลิน) ก็ส่งผลให้เกิดโศกนาฎกรรมตามมา

HARRY HAMLIN
http://img.timeinc.net/people/i/2004/04/30anniversary/sexiestman/hhamlin.jpg

HARRY HAMLIN จาก CLASH OF THE TITANS (1981, DESMOND DAVIS)
http://66.34.30.230/0/Clash/CotT011.jpg
http://66.34.30.230/0/Clash/CotT013.jpg
http://66.34.30.230/0/Clash/CotT020.jpg

แต่สิ่งที่ทำให้ดิฉันรักมินิซีรีส์เรื่องนี้อย่างสุดใจขาดดิ้นก็คือส่วนที่สาม ซึ่งเล่าเรื่องของอีฟกับอเล็กซานดรา แบล็คเวล (ลีแอน แลงแลนด์ แสดงสองบท) สองสาวฝาแฝดหน้าตาสะสวยที่เป็นหลานสาวของนักธุรกิจหญิงคนนี้ อเล็กซานดราเป็นสาวเซื่องที่มีศีลธรรมประจำใจไม่ต่างไปจากนางเอกหนังไทย แต่อีฟเป็นสาวที่เลวที่สุดคนหนึ่งในโลก เธอต้องการครอบครองความรักจากคนรอบข้างเอาไว้เพียงคนเดียวโดยไม่ยอมแบ่งปันให้กับอเล็กซานดรา ดังนั้นเธอก็เลยวางแผนจะฆ่าอเล็กซานดราตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก เธอพยายามหลอกให้อเล็กซานดราตกกระไดตาย, พยายามสร้างอุบัติเหตุต่างๆนานา, พยายามใส่ร้ายป้ายสีอเล็กซานดรา, พยายามปลอมตัวเป็นอเล็กซานดราเพื่อจะได้ร่วมรักกับแฟนของอเล็กซานดรา อีฟเป็นผู้หญิงที่โรคจิตมาก เธอมีทั้งความสวยและเกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่เธอก็ยังคงละโมบไม่รู้จักพอ นอกจากนี้ ความสามารถพิเศษของเธอก็คือการโกหกเป็นไฟ เธอสามารถแต่งเรื่องโป้ปดขึ้นมาได้อย่างฉับพลันทันทีราวกับเป็นอัจฉริยะ

อย่างไรก็ดี นอกจากอีฟจะมีอเล็กซานดราเป็นอุปสรรคแล้ว อีฟยังต้องคอยระวังคุณย่าของเธอเอาไว้ให้ดีด้วย เพราะถึงแม้อีฟจะฉลาดเป็นกรด คุณย่าของเธอก็ฉลาดไม่แพ้กัน และคุณย่าของเธอก็เริ่มรู้ระแคะระคายถึงความชั่วช้าสารเลวของอีฟบ้างแล้ว

Master of the Game อาจจะไม่ใช่มินิซีรีส์ที่มีคุณค่าทางศิลปะ แต่มันเป็นมินิซีรีส์ที่สนุกที่สุดในโลกสำหรับดิฉันค่ะ อย่างไรก็ดี ตำแหน่งมินิซีรีส์ที่ดิฉันชอบที่สุดในชีวิตเป็นของ The Murder of Mary Phagan (1988, บิลลี เฮล) ที่เล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับการที่ประชาชนสหรัฐรุมประชาทัณฑ์ชายผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งจนถึงแก่ความตายในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 The Murder of Mary Phagan อาจจะไม่ “สนุก” เท่า Master of the Game แต่มันเป็นมินิซีรีส์ที่ซาบซึ้งกินใจและทำให้ดิฉันร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง มินิซีรีส์เรื่องนี้มีคุณค่าทางจิตใจต่อดิฉันเป็นอย่างมากค่ะ

Master of the Game ดัดแปลงมาจากนิยายของซิดนีย์ เชลดอน และทำให้ดิฉันชื่นชอบซิดนีย์ เชลดอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มินิซีรีส์ของเชลดอนที่ดิฉันชอบมากๆรวมถึงเรื่อง If Tomorrow Comes (1986, เจอรี ลอนดอน) ที่นำแสดงโดยมาโดลีน สมิธ กับทอม เบอเรนเจอร์, Rage of Angels (1983, บัซ คูลิค) ที่นำแสดงโดยแจ็กลีน สมิธ กับอาร์มานด์ แอสซานเต, Rage of Angels: The Story Continues (1986, พอล เวนด์คอส) ที่นำแสดงโดยไมเคิล นูริที่หล่อน่ารักมาก และ The Sands of Time (1992, แกรี เนลสัน) ที่นำแสดงโดยเดบอราห์ แรฟฟิน, อแมนดา พลัมเมอร์ และไมเคิล นูริ

RAGE OF ANGELS
http://images-eu.amazon.com/images/P/B0000C24M6.02.LZZZZZZZ.jpg

MICHAEL NOURI จาก FLASHDANCE (1983, ADRIAN LYNE)
http://www.americanphoto.co.jp/pages/movie/HU/Previews/Plans-38273.jpg


10.ละครโทรทัศน์เรื่อง “เพลิงพ่าย”

ละครโทรทัศน์เรื่อง “เพลิงพ่าย” ที่ฉายทางช่อง 9 เมื่อราว 15 ปีก่อนเป็นละครที่ดูเหมือนไม่มีคุณค่าทางศิลปะอะไรเลย แต่มันเป็นหนึ่งในละครโทรทัศน์ไทยที่ฝังใจดิฉันมากที่สุดค่ะ เพราะตัวละคร “เวลุลี” (ไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างนี้หรือเปล่า) ที่รับบทโดยนิสา วงศ์วัฒน์ในเรื่องนี้ เป็นนางเอกละครไทยที่โรคจิตวิปริตที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยดูมา

เวลุลีกำเนิดมาพร้อมกับปานดำขนาดใหญ่บนใบหน้า และนั่นทำให้เธอรู้สึกอิจฉาและเกลียดชังไอลดา (จามจุรี เชิดโฉม กับการพลิกบทบาทครั้งประวัติศาสตร์) ซึ่งเป็นพี่สาวที่มีหน้าตาสะสวยเป็นอย่างมาก ต่อมาเวลุลีได้รับการผ่าตัดให้กลายเป็นคนสวย แต่จิตใจของเธอก็ยังคงมืดบอดจนไม่อาจเยียวยาได้ เธอฆ่าตัวละครอื่นๆในเรื่องตายไปหลายคนจนดิฉันนับไม่หวาดไม่ไหว โดยถ้าเธอเจอตัวละครที่อ่อนแอ เธอก็จะร้ายใส่ตัวละครตัวนั้นซึ่งๆหน้า แต่ถ้าหากเธอเจอตัวละครที่ร้ายกาจ, เข้มแข็ง และไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเธอ เวลุลีก็จะเปลี่ยนบุคลิกในทันที เธอจะทำตัวเป็นคนดีนิสัยอ่อนโยนเพื่อหลอกให้ศัตรูของเธอตายใจนึกว่าเวลุลีกลับใจเป็นมิตรแล้ว

นอกจาก “เพลิงพ่าย” จะมีตัวละครนางเอกที่น่าทึ่งที่สุดแล้ว ละครเรื่องนี้ยังมีเพลงไตเติลที่น่าทึ่งที่สุดอีกด้วยค่ะ ถ้าจำไม่ผิด เพลงนี้ขับร้องโดยนิศาลักษณ์ ศรีนาคาร ที่ใช้พลังเสียงได้อย่างยอดเยี่ยมมาก แถมยังมีเนื้อร้องที่กินใจสุดๆโดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า “รับกรรมให้พอ ตัวก่อไว้เอง”

ปัญหาก็คือว่าตอนนี้ดิฉันไม่รู้ว่าจะหาเพลง “เพลิงพ่าย” ฟังได้ที่ไหนน่ะค่ะ อยากฟังเพลงนี้อีกมากๆ


11.Frevel (1983, เพเทอร์ ไฟลช์มานน์)

หนังเยอรมันตะวันตกเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำรวจชายที่หมกมุ่นกับหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในคดีฆาตกรรมโหดเหี้ยม จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ได้เฉลยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นฆาตกรจริงหรือเปล่า แต่ดิฉันขอรวมเอาหนังที่สุดยอดเรื่องนี้ไว้ในกลุ่ม “ผู้หญิงใจโหด” ด้วย เพราะนางเอกหนังเรื่องนี้แสดงความโหดออกมาบ้างเล็กน้อยในช่วงท้ายเรื่อง และดิฉันก็ค่อนข้างปักใจเชื่อว่านางเอกเป็นฆาตกรตัวจริง ถึงแม้หนังจะไม่ยืนยันก็ตาม

ดิฉันหลงใหลนางเอกหนังเรื่องนี้ค่ะ เธอเป็นผู้หญิงที่ดูมีเสน่ห์แบบลึกลับมากและเธอก็ไม่พูดเลยตลอดทั้งเรื่อง คนทั่วไปนึกว่าเธอเป็นคนวิกลจริต แต่พอดูหนังเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ชมก็จะเริ่มรู้สึกว่าคุณตำรวจท่าทางจะวิกลจริตยิ่งกว่านางเอกเสียอีก ในแง่มุมหนึ่ง ความสัมพันธ์ของตัวละครนำ 2 ตัวในเรื่องนี้ก็เหมือนกับ Persona (1966, อิงมาร์ เบิร์กแมน) นั่นก็คือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่พูดกับไม่พูด โดยตัวละครที่ไม่ยอมพูดนั้นจะดูเหมือนเป็นคนบ้าในตอนแรก แต่ตัวละครที่พูดจาปกติเหมือนคนทั่วไปกลับแสดงความบ้าคลั่งมากขึ้นเรื่อยๆขณะที่เนื้อเรื่องดำเนินไป

Frevel เน้นนำเสนอแต่เรื่องความหมกมุ่นของตำรวจที่มีต่อตัวผู้ต้องสงสัยคนนี้ค่ะ และจนถึงตอนจบของหนังเรื่องนี้ คนดูก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าใครคือฆาตกรและอะไรคือแรงจูงใจของฆาตกร ซึ่งนั่นยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้ดูลี้ลับมากยิ่งขึ้น

บรรยากาศที่เหมือนมีบางอย่างลี้ลับคืออีกจุดหนึ่งที่ดิฉันชอบมากในหนังค่ะ หนังเรื่องนี้ไม่ได้จงใจสร้างบรรยากาศลึกลับด้วยวิธีการเดียวกับหนังฮอลลีวู้ด บรรยากาศในหนังเรื่องนี้ดูเผินๆเหมือนหนังชีวิตธรรมดา แต่ดิฉันไม่รู้เหมือนกันว่าเพเทอร์ ไฟลช์มานน์ทำได้ยังไงในการทำให้บรรยากาศที่ดูเผินๆเหมือนธรรมดาในหนังเรื่องนี้กลับมีกลิ่นไอบางอย่างของความชั่วร้ายและความไม่น่าไว้วางใจล่องลอยอยู่

ไฟลช์มานน์ต้องคุมองค์ประกอบทุกอย่างให้ลงตัวมากๆถึงจะสร้างบรรยากาศแบบนี้ได้ เขาต้องคุมดนตรีประกอบ, การจัดภาพ, การแสดง, จังหวะของหนัง และจังหวะการตัดต่อให้ลงตัวถึงจะสร้างบรรยากาศที่น่าขนลุกแบบลึกๆอย่างใน Frevel ได้

พล็อตหนังเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับตำรวจชายหลงรักผู้ต้องสงสัยหญิงอาจจะคล้ายคลึงกับหนังอีกหลายเรื่องค่ะ ซึ่งรวมถึงคล้ายกับหนังเยอรมันเรื่อง Solo for Clarinet (1998, นิโก ฮอฟมานน์) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำรวจที่สืบคดีผู้ชายที่ถูกฆ่าตายและถูกตัดอวัยวะเพศ, คล้ายกับ Basic Instinct (1992, พอล เวอร์โฮเวน) และคล้ายกับ Sea of Love (1989, แฮรัลด์ เบคเกอร์) ที่นำแสดงโดยอัล ปาชิโน กับเอลเลน บาร์กิน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ Frevel แตกต่างจากหนังกลุ่มนี้ก็คือการที่ Frevel เน้นบรรยากาศมากกว่าพล็อต และการที่ Frevel ไม่ให้คำเฉลยและไม่บอกแรงจูงใจของตัวละคร

ไฟลช์มานน์เคยกำกับหนังขาวดำเรื่อง Hunting Scene from Bavaria (1968) ที่น่าดูมากๆเลยค่ะ หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นบาวาเรียของเยอรมันตะวันตกที่ชอบพูดล้อเลียนคนอื่นๆ, ชอบมุกตลกหยาบโลน, ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น และค่อนข้างสมองทึบ ชาวบ้านกลุ่มนี้เกลียดทุกอย่างที่แตกต่างไปจากตัวเอง พวกเขาเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เชิดชูการทำตามคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นอย่างมาก พวกเขาไม่ยอมคบค้าสมาคมกับแม่ม่ายเพราะแม่ม่ายคนนี้มีลูกชายปัญญาอ่อน และพวกเขาไม่ยอมให้ความช่วยเหลือคุณครูหญิงที่หนาวเหน็บเพราะคุณครูคนนั้นมีการศึกษาสูงกว่าพวกเขา นอกจากนี้ เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็นินทาและกลั่นแกล้งชายหนุ่มคนนี้เพราะคิดว่าเขาเป็นเกย์

แองเจลา วิงค์เลอร์ และฮันนา ชิกุลลา สองดาราหญิงแถวหน้าของเยอรมนีในทศวรรษ 1970 ร่วมแสดงใน Hunting Scene from Bavaria ด้วย


12.Drowning by Numbers (1988, ปีเตอร์ กรีนอะเวย์)
http://images.amazon.com/images/P/078401146X.01.LZZZZZZZ.gif

ถ้าหากใครดู Les Diaboliques (1954, อองรี-จอร์จส์ คลูโซต์) และ Diabolique (1996, เจเรเมียห์ ชีชิค) แล้วรู้สึกประทับใจกับฉากผู้หญิงฆ่าผัวด้วยการทำให้จมน้ำในหนังสองเรื่องนี้ ดิฉันก็ขอแนะนำให้ดู Drowning by Numbers ด้วยเพื่อช่วยดับกระหายค่ะ

ใน Drowning by Numbers ผู้หญิง 3 รุ่น 3 คนฆ่าสามีของตัวเองโดยใช้วิธีทำให้จมน้ำตายเหมือนกัน ในขณะที่แมดเจทท์ (เบอร์นาร์ด ฮิลล์ จาก The Lord of the Rings) สัปเหร่อคนหนึ่งล่วงรู้ถึงความลับนี้แต่ก็ยินดีจะช่วยปกปิดความลับให้ ทางด้านลูกชายของเขาที่ชื่อสมัท (เจสัน เอ็ดเวิร์ดส์) ก็กำลังสนใจในตัวเด็กสาวข้างบ้านที่ชอบนับดวงดาวบนท้องฟ้า

ผู้หญิง 3 คนนี้มีชื่อว่าซิสซี โคลพิทส์เหมือนกัน โดยคนที่อายุมากที่สุดรับบทโดยโจน โพลวไรท์ เธอตัดสินใจฆ่าสามีของตัวเองหลังจากได้เห็นสามีของตัวเองทำพฤติกรรมนอกใจ ส่วนผู้หญิงอีกสอง คนเป็นลูกสาว (จูเลียต สตีเวนสัน ที่หลายคนบอกว่าหน้าตาคล้ายฟรานเซส แมคดอร์มานด์) และหลานสาวของเธอเอง (โจลี ริชาร์ดสัน ซึ่งเป็นลูกสาวของวาเนสซา เรดเกรฟ กับโทนี ริชาร์ดสัน)

หนังแนวตลกร้ายของกรีนอะเวย์เรื่องนี้คงเอกลักษณ์ของเขาเอาไว้อย่างครบถ้วน เพราะหนังเรื่องนี้ยังคงเต็มไปด้วยอะไรประหลาดๆพิสดารที่ดูเหมือนไร้เหตุผล หนังเรื่องนี้มีทั้งการเล่นคำ, บัญชีรายชื่อบ้าๆบอๆ และการพาดพิงถึงหนังเรื่องก่อนๆของเขา รวมทั้งยังพาดพิงไปถึงอะไรต่างๆอีกมากมายหลายอย่าง ทั้งเกม, เซ็กส์, ความตาย, แซมซันและเดไลลาห์, บรูเกล ซึ่งเป็นจิตรกรชื่อดัง และการขลิบอวัยวะเพศ

ฉากที่ดิฉันชอบมากในหนังเรื่องนี้คือฉากที่มีผู้หญิงกระโดดเชือก ส่วนสิ่งที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการที่หนังทำหน้าที่เป็นเกมอย่างหนึ่งสำหรับผู้ชม เพราะหนังเรื่องนี้เปิดฉากด้วยเด็กผู้หญิงคนหนึ่งนับดาว 100 ดวง และหลังจากนั้นตัวเลข 1-100 ก็จะทยอยปรากฏในหนังในรูปแบบต่างๆกันไป โดยบางทีก็ปรากฏอยู่ในบทสนทนา, อยู่ในเสื้อของนักแสดง หรือแอบซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆในภาพ ผู้ชมจะต้องคอยสังเกตหาตัวเลขเหล่านี้เอาเอง ดิฉันคิดว่าวิธีการนี้ช่วยให้การชมหนังเรื่องนี้สนุกสนานขึ้นมากเลยค่ะ

ความหมกมุ่นกับตัวเลขเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่บ่อยๆในหนังของกรีนอะเวย์ และทำให้ผู้ชมที่หมกมุ่นกับการจัดทำอันดับรายชื่อหรือการเรียงลำดับสิ่งต่างๆอย่างดิฉันรู้สึกสนุกกับหนังของเขาเป็นอย่างมาก หนังที่น่าสนใจของเขารวมถึง Prospero’s Books (1991) ที่จัดวางโครงสร้างการเล่าเรื่องให้เกี่ยวโยงกับหนังสือ “24” เล่มที่พรอสเปอโร (จอห์น กีลกูด) นำติดตัวไปหลังจากถูกเนรเทศ

Drowning by Numbers ไม่ใช่หนังเรื่องเดียวของกรีนอะเวย์ที่มีผู้หญิงฆ่าสามีของตัวเอง เพราะใน The Cook, The Thief, His Wife & Her Lover (1989) จอร์จิน่า (เฮเลน มิร์เรน) ก็ฆ่าสามีผู้ชั่วช้าของตัวเอง (ไมเคิล แกมบอน) เช่นกัน และการลุกขึ้นปฏิวัติสามีของจอร์จิน่าในเรื่องนี้คงสร้างความประทับใจให้ผู้ชมหลายคนมาก จนแม้แต่วง Chumbawamba ของอังกฤษ ยังแต่งเพลง Georgina ขึ้นมาหลังจากได้ชมหนังเรื่องนี้ โดยเพลงนี้บรรจุอยู่ในอัลบัมชุด Anarchy (1994) และถือเป็นเพลงที่เพราะมากๆเพลงหนึ่ง ดิฉันชอบเพลงนี้มากเป็นอันดับสองรองจากเพลง Homophobia ในบรรดาเพลงทั้งหมดที่เคยฟังมาของวง Chumbawamba ค่ะ

เนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ Georgina พอจะแปลได้ว่า “จอร์จิน่ากระหายที่จะแก้แค้น/ และเธอก็ร้องเพลงทุกเพลงจากหนังเรื่อง Oliver!/ แต่เธอจะไม่ต้องกระหายหิวอีกต่อไป/ ขณะที่เธอกำปืนไว้แน่นและเตรียมที่จะเหนี่ยวไก”

นอกจาก Drowning by Number แล้ว กรีนอะเวย์ยังกำกับหนังอีกเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศพลอยในน้ำเหมือนกัน นั่นก็คือเรื่อง Death in the Seine (1989) โดยหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นอย่างรุนแรงของกรีนอะเวย์ในการจัดแยกหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆ

Death in the Seine มีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีประวัติศาสตร์ 23 คดีเกี่ยวกับศพที่เก็บขึ้นมาได้จากแม่น้ำแซนของฝรั่งเศสในปี 1795-1801 และมีลักษณะคล้ายคลึงหนังเรื่อง The Falls (1980) ของกรีนอะเวย์เอง โดย The Falls มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติชีวิตของเหยื่อ 92 คนของ “เหตุการณ์รุนแรงที่ไม่มีคำอธิบาย”

จุดเด่นของ Death in the Seine รวมถึงการเคลื่อนกล้องอย่างเชื่องช้าผ่านกองซากศพ, การแบ่งจอภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างจอภาพยนตร์กับหน้ากระดาษ, การถ่ายทอดกระบวนการเก็บรวมรวมข้อมูลเพื่อใช้เป็นหลักฐาน และการคาดเดากับการตั้งสมมุติฐานแบบเชอร์ล็อค โฮล์มส์

ไมเคิล ไนแมน มักจะรับหน้าที่ทำดนตรีประกอบที่ไพเราะและทรงพลังให้กับหนังหลายเรื่องของกรีนอะเวย์ ในขณะที่งานด้านการถ่ายภาพอันวิจิตรอลังการในหนังของเขามักเป็นฝีมือของซาช่า เวียร์นี

No comments: