Thursday, October 09, 2008

"WE MUST PROTECT CAPITALIST DEMOCRACY FROM THE THREAT OF FASCISM"

Giles Ungpakorn wrote an interesting article . I copied parts of his article from a website .

ใจ อึ๊งภากรณ์ : ทุกสถาบันสาธารณะของไทยล้มเหลวในการปกป้องประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม เราได้เห็นม็อบฟาสซิสต์ของพันธมิตรฯ จงใจก่อความรุนแรง และความวุ่นวายรอบๆ รัฐสภาและตลอดเส้นทางราชดำเนิน การจงใจก่อความรุนแรงนี้เป็นไปตามแผนการสร้าง “เคออส” (Chaos) ของแกนนำพันธมิตร เป้าหมายที่เขาต้องการคือการนำระเบียบใหม่ของเผด็จการเข้ามา โดยอาศัยอำนาจทหาร ศาล หรืออำนาจนอกกรอบระบบประชาธิปไตย เพื่อล้มรัฐบาลและทำรัฐประหาร

เราทราบว่าพันธมิตรฯมีและใช้อาวุธปืน และอาวุธอื่นๆ ในการจลาจลเมื่อวานนี้ ยิ่งกว่านั้นมีบุคคลหลายคนในพันธมิตรฯ หรือที่พันธมิตรฯชื่นชม ที่เคยมีส่วนในเหตุนองเลือดที่ กรือเซะ ๖ตุลา และในพฤษภา๓๕ ส่วนรัฐบาลและตำรวจก็มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน สรุปแล้วทั้งพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ ส.ว. 40 คน และรัฐบาล ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราไม่ควรไปประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยสองมาตรฐาน

ข้ออ้างของพันธมิตรฯว่ารัฐบาลนี้ “ขาดความชอบธรรม” ฟังไม่ขึ้น ผมคัดค้านทักษิณ ไทยรักไทย และพลังประชาชนมาตลอด และยังคัดค้าน เพราะเป็นพรรคนายทุนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดภาคใต้และสงครามยาเสพติด ผมคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในส่วนที่เน้นตลาดเสรีด้วย แต่รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งโดยได้รับการสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ รัฐบาลจึงมีความชอบธรรม ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้ นี่คือหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ฝ่ายพันธมิตรฯ และนักวิชาการปฏิเสธ

ข้ออ้างว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม มาจากความเชื่อว่าคนจนไม่มีวุฒิภาวะที่จะใช้เสียงในระบบการเลือกตั้ง คนจนโง่นั้นเอง ข้อเสนอแบบนี้เริ่มปรากฏในหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตยไทย” ของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อของกลุ่มปฏิกิริยาเผด็จการ นอกจากพันธมิตรฯแล้ว นักวิชาการส่วนใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ทหารคมช. และอภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยมเชื่อกันหมด คนอย่าง ศิริชัย ไม้งาม เสริมว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมเพราะเรื่อง “เขาพระวิหาร” ซึ่งเหลวไหลที่สุด แต่เรื่องการปลุกระดมแนวคลั่งชาติเกี่ยวกับเขาพระวิหารก็ถูกนำมาใช้โดยพรรคประชาธิปัตย์ และที่แย่ที่สุดคือโดย ส.ว. “เอ็นจีโอ” รสนา ที่ผมเคยเลือกคุณรสนาต้องรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บของทหารที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และต้องกลับมาอธิบายให้คนในภาคประชาชนกรุงเทพฯทราบว่านโยบายนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนธรรมดาอย่างไร

สถาบันสาธารณะทั้งหลายในสังคมไทย ไม่มีทางมาแก้ข้อพิพาทปัจจุบันด้วยความเป็นกลาง และด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ ทหาร ศาล พรรคการเมือง และรัฐบาล เลือกข้างไปแล้ว และไม่มีมาตรฐานความเสมอภาค นักวิชาการส่วนใหญ่หมดสภาพในการวิเคราะห์เพราะมีอคติต่อคนจนและประชาธิปไตย

การเลือกข้างในการวิจารณ์เหตุการณ์วันที่ ๗ ไม่มีประโยชน์สำหรับกรรมาชีพและคนจน และที่สำคัญที่สุด เราต้องปกป้องระบบประชาธิปไตยทุนนิยมจากการคุกคามของเผด็จการ นี่คือจุดยืนของนักมาร์คซิสต์มานาน เช่นกรณี โรซา ลัคแซมเบอร์คในหนังสือ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ”

เราต้องรณรงค์เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และการปฏิรูปสังคมพร้อมกัน แต่ถ้าสถาบันสาธารณะหมดสภาพที่จะแก้ปัญหาวิกฤตนี้ในทิศทางประชาธิปไตย เราต้องเน้นภาระของภาคประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามภาคประชาชนก็ละเลยภาระนี้มานานเกินไป และไปเลือกข้างในข้อพิพาทระหว่างชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราต้องเรียกร้องให้แกนนำภาคประชาชน เช่น กปอพช. และขบวนการแรงงาน สร้างขั้วอิสระทางการเมือง และริเริ่มกระบวนการปฏิรูปสังคมของภาคประชาชนเอง ถ้าเราไม่เร่งทำงานแบบนี้ วิกฤตสังคมไทยจะถูกแก้ไขบนสันหลังและศพของคนจน






No comments: