Sunday, October 10, 2010

My comment on DARK SLEEP (2009, Teerani Siangsanoh)

เพียงหลับใหลในเงามืด (2009, ธีรนิติ์ เสียงเสนาะ, 15 นาที)

เพียงหลับใหลในเงามืดเป็นหนึ่งในหนังที่ผมชอบที่สุดที่ได้ดูในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 14 มันเป็นหนังในแนวทางที่ผมชอบมากๆ มันเต็มไปด้วยพลังอันลึกลับและน่าเย้ายวนของความมืด, มันไม่ได้เล่าเรื่อง แต่เต็มไปด้วยภาพอันน่าติดตาตรึงใจมาเรียงร้อยต่อเข้าด้วยกัน และก่อให้เกิดอารมณ์ที่พิลาศล้ำอย่างรุนแรง มันมีคุณลักษณะเดียวกับหนังอีกหลายๆเรื่องที่ผมเทิดทูนบูชาอย่างมากๆ และคุณลักษณะที่ว่านั้นก็คือ การที่จะให้ผมบรรยายหนังเรื่องนี้หรือถ่ายทอดความรู้สึกของผมที่มีต่อหนังเรื่องนี้ออกมาเป็นตัวอักษร คงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

"เพียงหลับใหลในเงามืด" ทำให้ผมนึกถึงคำโปรยที่คุณสนธยา ทรัพย์เย็นเขียนไว้บนปกหลังของหนังสือ BOOKVIRUS เล่ม 1 ซึ่งคำโปรยนั้นเขียนไว้ว่า "การเล่าเรื่องหรือการแบกรับสาระไม่ควรเป็นหน้าที่ซึ่งหนังถูกบังคับให้ยึดถือ ความฉลาดลึกซึ้งไม่ใช่คุณสมบัติข้อแรกของหนังคุณภาพ" และ "หนังไม่มี "ปัญญา" ไว้คิด แต่เพราะหนังนั้นมีจุดแกร่งในการแสดงภาวะสลัวลืมทำนบสำนึกแตก เป็นอุดมจินตนาการ 'วิ่งทบฝัน' อันกระโจนไกลเหนือคำบรรยาย"

ผมคิดว่าสิ่งที่คุณสนธยาเขียนถึงในปกหลัง BOOKVIRUS 1 สามารถนำมาใช้บรรยายถึงหนังเรื่อง "เพียงหลับใหลในเงามืด" ได้ดีทีเดียว

เนื่องจากผมไม่ใช่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และเป็นเพียงแค่นักดูหนังคนหนึ่ง ดังนั้นผมจึงไม่ถนัดในการที่จะวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องใดอย่างลึกซึ้ง แต่ถนัดในการระบุว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ผมได้ดูนั้นทำให้ผมนึกถึงความสุขหรือความรู้สึกที่เคยได้รับจากภาพยนตร์เรื่องใดบ้างในอดีต ดังนั้นสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้จึงไม่ใช่การบอกว่าภาพยนตร์เรื่อง "เพียงหลับใหลในเงามืด" เหมือนกับภาพยนตร์เรื่องใด แต่เป็นเพียงการบอกว่าความรู้สึกที่ผมได้รับจาก "เพียงหลับใหลในเงามืด" ทำให้ผมนึกถึงความรู้สึกที่ผมเคยได้รับจากภาพยนตร์เรื่องใดบ้างในอดีต ผมในฐานะนักดูหนังคงถนัดในการเขียนสิ่งง่ายๆเหล่านี้ มากกว่าจะเขียนวิเคราะห์หนังเรื่องใดอย่างเจาะลึกจริงๆจังๆ

สิ่งที่ผมชอบใน "เพียงหลับใหลในเงามืด" ก็มีเช่น:

1.การสร้างความรู้สึกอันงดงามและแปลกประหลาด อันเกิดจากการนำภาพที่แปลกประหลาดมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ผมคิดว่าความงดงามแบบนี้คงเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า "ภาพยนตร์เชิงกวี" และผมคิดว่าความงดงามเชิงกวีของ "เพียงหลับใหลในเงามืด" นั้นอาจจะเทียบชั้นได้กับภาพยนตร์เรื่อง SWEETHEART GARDEN (2009, Tanatchai Bandasak), PHANTOM LOVE (2007, Nina Menkes), PAMELA, POUR TOUJOURS (2005, Alain Bourges), BIRTH OF THE SEANEMA (2004, Sasithorn Ariyavicha), KALYI – THE AGE OF DARKNESS (1993, Fred Kelemen), ROYAUME (1991, Étant Donnés) และTAKE THE 5:10 TO DREAMLAND (1976, Bruce Conner)

PHANTOM LOVE
http://www.youtube.com/watch?v=k8mMKRTf7UQ

PAMELA, POUR TOUJOURS
http://vimeo.com/3782820

ROYAUME
http://www.youtube.com/watch?v=VbMBzVxYVuA

TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND
http://www.youtube.com/watch?v=z4rG-_dGUzA


2.ฉากตัวละครเดินไปกับตัวประหลาดที่ใส่ผ้าคลุมไหล่สีดำในชายป่า เรามองเห็นแต่เพียงด้านหลังของตัวละคร ฉากนี้ให้ความรู้สึกพิสดารกึ่งแฟนตาซี และทำให้ผมนึกถึงโลกจิตวิทยาในหนังของอิงมาร์ เบิร์กแมน และนึกถึงตัวประหลาดในภาพยนตร์เรื่อง THE THING (2008, ฟาริ เทศประทีป, 16 นาที) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับจิตใต้สำนึกของเธอเอง

3.ฉากแอ่งน้ำเจิ่งนอง ซึ่งโดยปกติแล้วมันน่าจะเป็นภาพของความสกปรก หรือเป็นทัศนะอุจาด แต่เมื่อมันมาอยู่ในหนังเรื่องนี้ มันกลับกลายเป็นสิ่งที่สวยงามน่าหลงใหลมากๆ และทำให้ผมนึกไปถึงแอ่งน้ำเจิ่งนองในหนังเรื่อง STALKER (1979, Andrei Tarkovsky) ถึงแม้ว่าแอ่งน้ำเจิ่งนองใน "เพียงหลับใหลในเงามืด" จะไม่มีผู้ชายมานอนและมีหมาวิ่งผ่านเหมือนใน STALKER ก็ตาม

4.อย่างไรก็ดี มีหมาปรากฏตัวใน "เพียงหลับใหลในเงามืด" ด้วยเช่นกัน และนี่คือฉากที่พีคที่สุดสำหรับผมในหนังเรื่องนี้ โดยที่ผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผมไม่รู้ว่าฉากนี้มีความหมายว่าอะไร รู้แต่ว่า อยู่ดีๆเราก็ได้เห็นภาพสุนัขตัวหนึ่งปรากฏตัวท่ามกลางความมืดในหนังเรื่องนี้ และกล้องก็ถ่ายภาพสุนัขตัวนี้อย่างเบลอๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ หนึ่งในฉากที่สวยที่สุดตลอดกาลเท่าที่ผมเคยเห็นมาในภาพยนตร์ไทย ผมคิดว่าพลังความงามแบบสลัวรางของฉากนี้ เทียบชั้นได้กับภาพยนตร์เรื่อง A LAKE (2008, Philippe Grandrieux) หรือ SOMBRE (1998, Philippe Grandrieux) เลยทีเดียว

ฉากเปิดของ SOMBRE:
http://www.youtube.com/watch?v=wuCYmGcYPwc


5.อีกฉากที่ผมคิดว่าทรงพลังมากๆใน "เพียงหลับใหลในเงามืด" คือฉากผู้ชายยืนอยู่กลางลานจอดรถมอเตอร์ไซค์หรืออะไรทำนองนี้ ฉากนี้ให้ความรู้สึกที่น่ากลัวสุดๆ ทั้งๆที่ผู้ชายคนนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย เราไม่ได้เห็นหน้าของผู้ชายคนนี้ด้วยซ้ำ ผมคิดว่าความน่ากลัวของฉากนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ อย่างเช่นการที่เราไม่ได้เห็นหน้าของเขา และเห็นเพียงแค่โครงร่างของเขาจากระยะไกล, ตำแหน่งการยืนของผู้ชายคนนี้ที่อยู่ตรงกลางของกรอบภาพ ซึ่งทำให้เขาดูน่าเกรงขาม และกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ของผู้ชมอย่างเต็มที่ว่าผู้ชายคนนี้มายืนทำไม และเขาจะทำอะไรต่อไป, ดนตรีประกอบ และจังหวะการปรากฏตัวของฉากนี้ นี่คือความน่ากลัวที่ไม่ต้องอาศัยคำอธิบายอะไรมารองรับทั้งสิ้น

6.การถ่ายภาพแสงไฟในความมืด ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยๆในหนังของ "สำนักงานใต้ดิน" รวมถึงในหนังเรื่องนี้ด้วย หนังของคุณธีรนิติ์และของสำนักงานใต้ดินสามารถถ่ายภาพแสงไฟในความมืดออกมาได้อย่างทรงพลังและน่าหลงใหลมากๆ และมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจากหนังบางเรื่องที่ถ่ายภาพแสงไฟในความมืดเหมือนกัน โดยหนังที่ถ่ายภาพแสงไฟในความมืดของกรุงเทพออกมาได้อย่างบรรเจิดเลิศวิไลมากๆก็มีเช่นเรื่อง ROUGH NIGHT (2001, สามารถ อิ่มขำ) และ FIREFLIES (2005, ชวิศร์ แววสว่างวงศ์) แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างหนังสองเรื่องนี้กับหนังของสำนักงานใต้ดินก็คือการที่แสงไฟในหนังของสำนักงานใต้ดินมีพลังลึกลับหรือเหมือนมีพลังจากมิติพิศวงอยู่ในนั้นด้วย ในขณะที่แสงไฟใน ROUGH NIGHT เป็นความงามที่เจือความรันทด และแสงไฟใน FIREFLIES เป็นความงามแบบพลุ่งพล่าน

7.ฉากที่เห็นดวงตาของตัวละครประกอบ (เข้าใจว่าแสดงโดยวชร กัณหา) ที่เขียนขอบตา และจ้องมองด้วยอาการถมึงทึง โผล่ขึ้นมาเพียงชั่วครู่เดียว ผมไม่รู้ว่าตัวละครตัวนี้มาจากไหน และเขาคือใคร บางทีเขาอาจเป็นเพียงจิตใต้สำนึกด้านหนึ่งของพระเอกของเรื่อง ฉากนี้พิศวงมาก และทำให้นึกถึงภาพที่เห็นจากหนังเรื่อง JUBILEE (1978, Derek Jarman)

8.ฉากผ้าม่านสีดำโบกสะบัดในความมืด ฉากนี้เป็นฉากที่มืดมาก จนมองแทบไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้นในฉากนี้ แต่ฉากนี้ก็ทั้งงดงาม, ทรงพลัง และดู minimal มากๆในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าความงามแบบ minimal ของฉากนี้ทัดเทียมได้กับภาพวาด WHITE FLOWER (1962, Agnes Martin) และพลังลึกลับของฉากนี้ก็ทัดเทียมได้กับหนังของ David Lynch

THE GRANDMOTHER (1970, David Lynch)
http://www.youtube.com/watch?v=xyNwfWt1hIA

9.ฉากที่ถ่ายชายป่า โดยที่ขอบซ้ายขอบขวาของภาพดูเบลอๆ ผมคิดว่าการถ่ายภาพขาวดำในบางส่วนของหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกแปลกประหลาดไม่แพ้หนังขาวดำสุดหลอนเรื่อง BEGOTTEN (1991, E. Elias Merhige)

BEGOTTEN
http://www.youtube.com/watch?v=toseWcEt-fM


10.ฉากที่แบ่งหน้าจอออกเป็นสามส่วน และเราเห็นภาพพระเอกในจอย่อยๆทั้งสามจอนั้น สาเหตุหนึ่งที่ผมชอบฉากนี้อาจจะเป็นเพราะว่าผมมักจะชอบหนังที่มีการ split screen เพราะเราไม่ค่อยเจอหนังที่ใช้เทคนิคแบบนี้อีกแล้วในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ การ split screen ในฉากนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายคำอธิบายดีด้วย เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจว่าการ split screen ในฉากนี้มีความหมายว่าอะไร หรือต้องการสะท้อนสิ่งใดในจิตใจพระเอก ผมรู้แต่ว่าผมชอบฉากนี้

11.ความรู้สึกลังเลใจที่พระเอกหรือผู้บรรยายเรื่องมีต่อความมืด เขารู้สึกหลงใหลในความมืด แต่ในขณะเดียวกันเขาก็พบว่าในความมืดนั้นมีความหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยวซ่อนอยู่ด้วย

ผมชอบความรู้สึกแบบสองจิตสองใจอย่างนี้ หรือความรู้สึกลังเลใจแบบนี้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เรามักจะพบได้อยู่เสมอในชีวิตจริงหรือในชีวิตประจำวัน เพราะทุกอย่างที่เราชอบหรือเราชังต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง เราอาจจะพบว่าเราหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เราก็ต้องตระหนักในเวลาเดียวกันว่าหากเราหลงใหลในมันมากเกินไป มันก็อาจจะสร้างความลำบากให้กับชีวิตของเราได้ เราต้องรักษาระดับความหลงใหลของเราให้พอดี

"เพียงหลับใหลในเงามืด" คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ธีรนิติ์ เสียงเสนาะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ "แสงสว่าง" อีกดวงหนึ่งสำหรับอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทย

อันนี้เป็นภาพจาก A LAKE, JUBILEE และ WHITE FLOWER ครับ









No comments: