Thursday, September 20, 2012

IN PRAISE OF CLAUDE CHABROL AND WARIT DEEPISUTI

IN PRAISE OF CLAUDE CHABROL AND WARIT DEEPISUTI

ข้อความข้างล่างก็อปปี้มาจากสิ่งที่เขียนคุยกับเพื่อนๆในที่ต่างๆจ้ะ

--เราเพิ่งได้ดู MERCI POUR LE CHOCOLAT (2000, Claude Chabrol, A+30) เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ดูแล้วรู้สึกสนุกตื่นเต้นมากๆ นี่คือหนึ่งในหนังที่เราดูแล้วลุ้นระทึกที่สุดในปีนี้  โดยเฉพาะฉากที่ Huppert ปะทะกับเจ้าแม่ห้องแล็บที่เชี่ยวชาญเรื่องยาพิษ ฉากนั้นนี่แบบดูแล้วรู้สึกเหมือนตัวจะระเบิดออกมาด้วยความตื่นเต้น

ความตื่นเต้นในฉากนั้นทำให้เรานึกถึงความตื่นเต้นตอนดู THE COLOUR OF LIES (1998, Claude Chabrol, A+30) นะ นึกถึงฉากที่ Valeria Bruni-Tedeschi ปะทะกับ Sandrine Bonnaire น่ะ แล้วเรากลัวมากว่าซองดรีนจะเอาเตารีดมาทาบหน้า Valeria หรือ Valeria จะควักปืนออกมายิงซองดรีน คือจริงๆแล้วมันไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรในฉากนั้นเลยน่ะ แต่จินตนาการเรามันไปสุดๆแล้ว

เรารู้สึกว่าเราชอบ Claude Chabrol, Wes Craven, Tsui Hark, เจนณรงค์ ศิริมหา และล่าสุดคือ วริศ ดีพิสุทธิ์ ในแง่ที่ว่า เขาสร้าง "ตัวละครหญิงที่มีรังสีของการฆ่าฟันอย่างรุนแรง" ออกมาได้ในแบบที่ถูกจริตเรามากๆ แต่ชาโบรลจะก้าวไปไกลกว่าอีกสี่คนที่เหลือนิดนึง ในแง่ที่ว่า ความตื่นเต้นที่เรามีต่อหนังของชาโบรล มันเกิดจากจินตนาการของเราเองว่าตัวละครหญิงเหล่านี้จะลุกขึ้นมาฆ่ากัน ในขณะที่ความตื่นเต้นที่เรามีต่อหนังของอีกสี่คนที่เหลือมันเกิดจากการได้เห็นตัวละครหญิงฆ่ากันจริงๆ

สรุปได้ว่า เรารักหนังของ Claude Chabrol เพราะ "พลังงานศักย์" ในตัวละครหญิงในหนังของเขา ในขณะที่เรารักหนังของ Wes Craven, Tsui Hark, Janenarong Sirimaha และ Warit Deepisuti เพราะ "พลังงานจลน์" ในตัวละครหญิงในหนังของเขา

--ดีใจมากๆที่คฤหาสน์ซ่อนเพลิง (2012, Warit Deepisuti, A+30) ได้เผยแพร่ในวงกว้าง เพราะนี่เป็นหนึ่งในหนังยาวของไทยที่ชอบที่สุดในปีนี้ สิ่งที่ชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ก็คือตัวละครหญิงที่มันไปได้สุดๆมากๆ

ดูคฤหาสน์ซ่อนเพลิงแล้วก็นึกถึงชีวิตสมัยมัธยมเหมือนกัน หนังของคุณวริศมีคุณค่ากับเรามากๆในแง่ที่ว่า ถึงแม้มันจะไม่มีความสมจริงแต่อย่างใด แต่มันมี "ความสนุกของการได้เล่นละคร" หรือ "ความสนุกของการได้เล่นอยู่ในโลกสมมุติกับเพื่อนๆสมัยมัธยม" อย่างเต็มเปี่ยมน่ะ และโลกจินตนาการหรือโลกสมมุติของคุณวริศกับเพื่อนๆ มันก็มีความใกล้เคียงกับโลกจินตนาการของเรามากๆ ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างไปจากหนังของเด็กมัธยมอีกกลุ่มที่ชอบเล่าเรื่องออกมาเป็นหนังแอคชั่นแบบแมนๆ คือหนังกลุ่มนั้นก็นำเสนอ "ความสนุกของการได้เล่นอยู่ในโลกสมมุติกับเพื่อนๆสมัยมัธยม" เหมือนกัน แต่โลกสมมุติของผู้สร้างหนังกลุ่มนั้นไม่ค่อยพ้องกับโลกจินตนาการของเราสักเท่าไหร่

คือหนังบางเรื่องคุณค่าของมันอยู่ที่ "การเล่าเรื่องได้อย่างสมจริง" นะ แต่หนังบางเรื่องอย่างเช่น เด็กผู้หญิงสองคน (2010, Warit Deepisuti, A+30), คฤหาสน์ซ่อนเพลิง, GOLDEN SAND HOUSE (2006, Chulayarnnon Siriphol), HAUNTED HOUSES (2001, Apichatpong Weerasethakul, 60min), THE PEN (2008, Weerasak Suyala, 60min), MY HUSBAND (UNCENSORED) (2008, Chawagarn Amsomkid) และ LOVERS & ENEMIES (2010, Dilmana Yordanova + Mihaela Kavdanska, Bulgaria/Romania) คุณค่าของมันอยู่พ้นไปจากตัวเนื้อเรื่องน่ะ เราว่าคุณค่าของมันอยู่ที่ความสนุกสนานในการได้เล่าเรื่อง

ฉากตกบันไดใน "เด็กผู้หญิงสองคน" ก็เลยเป็นหนึ่งในฉากที่เราชอบที่สุดในปีนี้ เพราะถ้าหากเป็นในหนังปกติธรรมดา เมื่อเราดูฉากนี้ เราจะจินตนาการว่า "ถ้าหากเราเป็นตัวละครตัวนั้น เราจะรู้สึกอย่างไรขณะตกกระได" แต่ใน "เด็กผู้หญิงสองคน" เมื่อเราดูฉากนี้ เรากลับรู้สึกว่า "ถ้าหากเราเป็นนักแสดงในหนังเรื่องนี้ เราจะรู้สึกสนุกขนาดไหนที่ได้เล่นตกกระไดต่อหน้ากล้อง" นี่แหละคือหนึ่งในความสนุกสุดยอดของเราขณะดูหนังของคุณวริศ เพราะเราไม่ได้จินตนาการว่าเรากำลังเป็นตัวละครตัวนั้น แต่เรากำลังจินตนาการว่าเรากำลังเป็นนักแสดงในหนังเรื่องนั้น




No comments: