Sunday, October 14, 2012

GREED AND DECEPTIONS (2012, Pisal Pattanapeeradech, A+/A)


เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์ (2012, พิศาล พัฒนพีระเดช, A+/A)

SPOILERS ALERT

สิ่งที่ชอบในละครเวทีเรื่องนี้

1.ชอบการแสดงของนักแสดงในเรื่อง โดยเฉพาะคนที่รับบทเป็นวิกานดา

2.ชอบบุคลิกของตัวละครหญิงทั้ง 3 คนในเรื่องนี้มากๆ

3. ช่วงเวลาที่เราชอบที่สุดในละครเรื่องนี้ คือช่วงที่วิกานดารู้ว่าพิเชษฐส่งคนไปฆ่าอรรณพ เพราะพิเชษฐหึงวิกานดาน่ะ คือ moment ตรงนั้นมันเป็น moment ที่พีคสุดๆในระดับ A+30 สำหรับเรา เพราะเราสนใจอารมณ์ความรู้สึกของวิกานดาตรงนั้นมากๆ เราว่ามันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์แบบที่ยากจะบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรได้น่ะ มันทั้งประหลาดใจ, ดีใจ, ตกใจ, ปลาบปลื้มใจ, รักสามี, เกลียดสามี, ยอกแสยงใจ, กระอักกระอ่วน, ฯลฯ คือเราชอบอารมณ์ตรง moment นั้นมากๆ และมันทำให้เรานึกไปถึงอารมณ์ที่พีคสุดๆเมื่อเราได้เห็นใบหน้าของ Stéphane Audran ในหนังเรื่อง LA FEMME INFIDÈLE (1969, Claude Chabrol) ตอนที่เธอรู้ความจริงว่าสามีของเธอฆ่าชู้รักของเธอเพราะหึงหวงเธอน่ะ คือใบหน้าของ Stéphane Audran ใน moment นั้นในหนังเรื่องนั้นมันพีคมากๆ และมันเหมือนกับ moment นี้ใน "เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์"

สิ่งที่เรารู้สึกสนใจในละครเวทีเรื่องนี้ และสิ่งที่เราไม่ชอบเป็นการส่วนตัวในละครเวทีเรื่องนี้

1.ปัญหาที่เรามีกับละครเรื่องนื้คือปัญหาเดียวกับที่เรามีกับนิยายของ Agatha Christie เกือบทุกเรื่องน่ะ นั่นก็คือเราจะรู้สึกสนุกตื่นเต้นกับมันมากๆในช่วง 3/4 แรกของเรื่อง แต่พอทุกอย่างเริ่มได้รับการเฉลยหรือคลี่คลาย ความรู้สึกตื่นเต้นมันก็จะลดฮวบลงอย่างรุนแรง เราสังเกตดูแล้วว่า เรารู้สึกชอบหนังที่สร้างจากนิยายของ Agatha Christie ส่วนใหญ่แค่ในระดับประมาณ A, A+/A หรือ A+ เท่านั้น แต่จะไม่มากไปจนถึงขั้น A+30 เพราะมันไม่ได้ "สะเทือนใจ" เราอย่างรุนแรงน่ะ และมันเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่เรารู้สึกกับ "เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์" นั่นก็คือเรารู้สึกสนุกตื่นเต้นสุดขีดกับช่วงครึ่งแรกของเรื่อง คือช่วงครึ่งแรกนี่เราเดาว่าเราอาจจะชอบละครเวทีเรื่องนี้ถึงขั้น A+30 เสียด้วยซ้ำ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นละครแนวลึกลับฆาตกรรมที่ทำได้เข้าขั้นมากๆ และมันสนุกมากๆ แต่พอเรื่องเริ่มมีการเฉลย ความรู้สึกตื่นเต้นก็ค่อยๆลดลงไป

ความรู้สึกที่เรามีต่อละครเรื่องนี้ และหนังที่สร้างจากนิยายของอกาธา คริสตี้ส่วนใหญ่ มันเหมือนกับกระป๋องน้ำอัดลมที่ถูกเขย่าอย่างรุนแรง แล้วพอเปิดมันออกมา ก็มีฟองฟ่อดๆๆๆๆๆๆพุ่งพรวดพรวดออกมาน่ะ แล้วพอผ่านไปสักพักนึง ไอ้ฟองฟ่อดๆๆนี่มันก็หายไปหมดเลย เรารู้สึกว่าไอ้ฟองฟ่อดๆนี่มันเหมือนกับความรู้สึกตื่นเต้นของเราที่มีต่อช่วงครึ่งแรกของละครเรื่องนี้และหนังที่สร้างจากนิยายของอกาธา คริสตี้

2.แต่ก็มีละครแนวสืบสวนสอบสวนที่เราชอบถึงขั้น A+15 หรือ A+30 นะ อย่างเช่น "เล่ห์" (2010, Punnatat Bodhivechakul) สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง "เล่ห์" กับ "เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์" ก็คือเรารู้สึกว่า"เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์" มันซับซ้อนสับสนเกินไปสำหรับเราน่ะ คือเราจะงงๆว่าตกลงมัน

2.1 วิกานดา กับอรรณพร่วมกันโกงเงินนิดหน่อย เพื่อใช้มัดตัวซึ่งกันและกัน
2.2 ศุภมาศ เบญจมาศ กับอรรณพต้องการโกงเงินก้อนใหญ่
2.3 พิเชษฐส่งคนมาฆ่าอรรณพเพราะความหึงหวง
2.4 ชัชวาลฆ่าอรรณพในวันเดียวกับที่พิเชษฐส่งคนมา แล้วชัชวาลก็ขโมยเงินไปส่วนนึง
2.5 อัจฉราฆ่าศุภมาศ และขโมยเงินบริษัทไปด้วยเหมือนกัน

เราไม่รู้ว่าเราเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด แต่เราว่าพล็อตมันซับซ้อนเกินไปสำหรับเรานะ และมันทำให้เรานึกถึงปัญหาเดียวกับที่เรามีกับหนังเรื่อง BASIC (2003, John McTiernan) น่ะ พล็อตมันหักมุมมากเกินไป และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราชอบ "เล่ห์" มากกว่า "เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์"

3.แต่มันก็มีละครเวทีหรือหนังบางเรื่องที่ "เนื้อหามันซับซ้อนเกินไป" แต่เราก็ยังคงชอบมันในระดับ A+ นะ เพราะมันมีจุดที่เราชอบเป็นการส่วนตัวบางอย่างที่มันสามารถกลบความรู้สึกก้ำกึ่งที่เรามีต่อพล็อตเรื่องได้ ตัวอย่างหนัง/ละครเวทีในกลุ่มนี้ก็มีเช่น

3.1 LOVE OF THE ECONOMIST (2012, Ninart Boonpothong, A+30)
เราว่าพล็อตละครเวทีเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ซับซ้อน "เกินไป" นะ แต่มันซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะปะติดปะต่อหรือเรียงลำดับเรื่องราวทั้งหมดได้ภายในการดูแค่รอบเดียว อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนของพล็อตละครเวทีเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับเราเลย เพราะเราว่าละครเรื่องนี้มันมี "มิติ" หรือมันมีเสน่ห์หรือมันมีอะไรบางอย่างที่เราบรรยายไม่ถูก แต่มันทำให้เราชอบมากๆน่ะ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าพล็อตของ LOVE OF THE ECONOMIST มันมีมากกว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไรน่ะ มันมีอีกมิตินึงที่ซ้อนทับขึ้นไปอีก และมันทำให้เราชอบละครเรื่องนี้อย่างสุดๆ ถึงแม้จะดูแล้วงงๆ

3.2 THE BIG SLEEP (1946, Howard Hawks)
หนังเรื่องนี้มีพล็อตที่ซับซ้อนเกินไปสำหรับเรานะ แต่มันดำเนินเรื่องลื่นไหลสนุกมากน่ะ เราก็เลยไม่ตะขิดตะขวงใจกับความซับซ้อนของมันเหมือนอย่างที่เรารู้สึกกับหนังเรื่อง BASIC

3.3 คฤหาสน์ซ่อนเพลิง (2012, Warit Deepisuti, A+30)

เรามีปัญหากับพล็อตหนังเรื่องนี้นะ แต่การได้เห็นเด็กมัธยมหญิงสองคนรับบทเป็น femme fatale กันได้อย่างถึงพริกถึงขิงมากๆมันเป็นการตอบสนองโลกจินตนาการของเราอย่างรุนแรงน่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะมีปัญหากับพล็อตหนังเรื่องนี้ แต่หนังเรื่องนี้มันตอบสนองโลกจินตนาการของเรามากๆ เราก็เลยยังคงชอบหนังเรื่องนี้มากๆอยู่ดี

4.นอกจากความซับซ้อนเกินไปแล้ว อีกอย่างนึงที่เรามีปัญหากับ "เลาะร้อยโลภ ลบร้อยเล่ห์" ก็คือ "ความบังเอิญ" น่ะ อย่างเช่น

4.1 การที่พิเชษฐส่งคนไปฆ่าอรรณพในวันเดียวกับที่ชัชวาลมาฆ่าอรรณพพอดี

4.2 การที่เบญจมาศมีฐานะเป็นทั้งพี่สาวของศุภมาศ, นักสืบของสุวิทย์ และชู้รักของอรรณพ คือเราไม่แน่ใจว่าการที่เธอมีทั้ง 3 สถานะนี่มันเป็นเรื่องบังเอิญ หรือมันเป็นเหตุผลเชื่อมโยงกัน แต่ถ้ามันเป็นเรื่องบังเอิญ เราว่ามันก็มากไปนะ

แต่จริงๆแล้วนิยายของอกาธา คริสตี้ก็มีเรื่องบังเอิญทำนองนี้นะ แต่ทำไมเราถึงยอมรับเหตุบังเอิญในนิยายของอกาธา คริสตี้ได้ แต่รู้สึกมีปัญหานิดหน่อยกับเหตุบังเอิญในละครเวทีเรื่องนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

5.ประเด็นเรื่องความละโมบในละครเรื่องนี้ ไม่ใช่ประเด็นที่เราสนใจเท่าไหร่น่ะจ้ะ

สรุปแล้วก็คือว่าการที่เราชอบละครเวทีเรื่องนี้ในระดับ A+/A เป็นเพราะมันมีข้อดีและข้อด้อยเหมือนกับนิยายของอกาธา คริสตี้น่ะ แต่ส่วนที่เราชอบที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้ในระดับ A+30 คือส่วนที่มันพ้องกับหนังของ Claude Chabrol

คือจริงๆแล้วเราไม่รู้หรอกนะว่าละครเวทีเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี แต่เราบอกได้ว่าเราชอบมันมากแค่ไหน เพราะเราวัดมันได้จากรสนิยมส่วนตัวของเรา และถ้าหากพูดถึง "เรื่องราวฆาตกรรรม" แล้ว เราชอบหนังของ Claude Chabrol และหนังที่สร้างจากนิยายของ Ruth Rendell กับ Patricia Highsmith มากกว่า Agatha Christie เยอะเลยน่ะ เพราะในหนังของ Chabrol/Rendell/Highsmith นั้น ประเด็นสำคัญในหนังไม่ได้อยู่ที่ว่า "ใครฆ่า" แต่อยู่ที่ "อารมณ์ความรู้สึกจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม" น่ะ คือเราว่าหนังของ 3 คนนี้นี่แหละ ที่มันดำดิ่งถึงจิตใจมนุษย์ในแบบที่พ้องกับรสนิยมส่วนตัวของเราอย่างจั๋งหนับจริงๆ

เพราะฉะนั้นถ้าหากใครมีรสนิยมแบบเดียวกับเรา เราก็ขอแนะนำให้หาหนังเหล่านี้มาดูนะจ๊ะ นี่แหละ คือ "เรื่องราวฆาตกรรม" ที่ "ดำดิ่งถึงจิตใจมนุษย์" ในแบบที่พ้องกับรสนิยมส่วนตัวของเรา

1.LA CEREMONIE (1995, Claude Chabrol) สร้างจากนิยายของ Ruth Rendell

2.LE BOUCHER (1970, Claude Chabrol)
มีฆาตกรต่อเนื่องที่ไล่ฆ่าเด็กในหมู่บ้าน แต่หนังไม่ได้โฟกัสไปที่ว่า "ใครฆ่าเด็ก" แต่โฟกัสไปยังอารมณ์ความรู้สึกของนางเอกที่ตกหลุมรักฆาตกรฆ่าเด็กคนนี้ ทั้งๆที่รู้ว่าเขาเป็นฆาตกรโรคจิต

3.THE COLOUR OF LIES (1998, Claude Chabrol)
มีฆาตกรที่ไล่ฆ่าเด็กในหมู่บ้าน แต่หนังไม่ได้โฟกัสไปที่ว่า "ใครฆ่าเด็ก" แต่โฟกัสไปยังอารมณ์ความรู้สึกของนางเอกที่สงสัยว่าสามีของตัวเองเป็นฆาตกร ความเคลือบแคลงสงสัยนี้จะส่งผลอย่างไรกับอารมณ์ความรู้สึกจิตใจและการตัดสินใจของเธอ

4.RIPLEY'S GAME (2002, Liliana Cavani) สร้างจากนิยายของ Patricia Highsmith

5.THE COMFORT OF STRANGERS (1990, Paul Schrader) สร้างจากบทภาพยนตร์ของ Harold Pinter



No comments: