Monday, October 08, 2012

SOME REFLECTIONS ON HARA WORKERS AND TAMAYANTI

The comment below is copied from

--พูดถึงเรื่องการขัดผลประโยชน์ของคนในยุคนั้น แล้วทำให้นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง "การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า" (1975, จอน อึ๊งภากรณ์, 52 นาที, A+30) ที่นำเสนอเหตุการณ์ในช่วงเดือนต.ค. 2518 จนถึงมี.ค. 2519 โดยหนังสารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องของกรรมกรหญิงที่พยายามต่อสู้เรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรมจากนายจ้าง แต่ปรากฏว่ากรรมกรหญิงพวกนี้กลับถูกจับเข้าห้องขังในโรงพักอยู่ระยะนึง และในระหว่างที่อยู่ในห้องขัง กรรมกรหญิงพวกนี้ก็ถูกกลุ่มนวพลหรือกลุ่มกระทิงแดงหรือกลุ่มขวาจัดบางกลุ่ม เข้ามาขู่ฆ่าถึงในโรงพักด้วย (ถ้าจำไม่ผิด) และในเวลาต่อมากลุ่มนวพล, กลุ่มกระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ก็ร่วมกันฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

คือก่อนหน้าที่เราจะได้ดูหนังสารคดีเรื่องข้างต้น เราจะแทบไม่เคยได้ยินชื่อของกลุ่มนวพลกับกลุ่มกระทิงแดงเลย เราก็เลยนึกว่ากลุ่มพวกนี้มีบทบาทสำคัญแค่ในช่วง 6 ต.ค. 2519 เท่านั้น แต่พอเราได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ เราถึงรู้ว่ากลุ่มนวพลกับกลุ่มกระทิงแดงมีบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน และข่มขู่คุกคามชีวิตของกรรมกรโรงงานด้วย

--สมัยที่เราเรียนอยู่ชั้นมัธยม เราก็ชอบนิยายของทมยันตีมากๆเหมือนกัน แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆเวลาเราขึ้นรถเมล์ บนรถเมล์จะมีสติ๊กเกอร์ติดว่า "เราต่อต้านทมยันตี" ซึ่งตอนเด็กๆเราก็งงๆว่าทำไมพวกคนขับรถเมล์ถึงเกลียดชังทมยันตีมากขนาดนี้

จำได้ว่าเคยอ่านนิยาย romantic comedy ของทมยันตีเรื่องนึง ซึ่งเราจำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว ในนิยายเล่มนั้นจะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ว่า "พอประชาธิปไตยเบ่งบานมากเกินไปหลัง 14 ต.ค. 2516 ก็เลยต้องถูกลิดรอนออกไปเสียบ้าง" ซึ่งตอนที่อ่านนิยายเล่มนี้เรายังไม่รู้จักเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 แต่เราสงสัยว่า "ประชาธิปไตย" มันสามารถเบ่งบานมากเกินไปได้ด้วยหรือ มันเป็นยังไงกันวะ ไอ้ประชาธิปไตยที่มันเบ่งบานมากเกินไปเนี่ย แต่ปัจจุบันนี้เรารู้ซึ้งแล้วจ้าว่าทำไมคนบางกลุ่มมันถึงคิดได้เยี่ยงนั้น

--นิยายของทมยันตีที่เราชอบสุดๆเลยก็คือ เพลงชีวิต, คลื่นชีวิต (ที่สร้างจากเรื่องจริงของอ้อย บีเอ็ม แม่เล้าอันดับหนึ่งของไทย), ล่า, รัศมีจันทร์, ทิพย์, และแนวสุดท้าย สาเหตุนึงที่ชอบนิยายของเธอมากๆเพราะตัวละครผู้หญิงของเธอเป็นผู้หญิงที่แกร่งมาก และมีความสามารถในการฆ่าคนสูงมาก คือในตอนที่เราเด็กๆนั้น จะมีทมยันตีกับโสภาค สุวรรณที่โด่งดังมาก แต่เราจะรับนิยายของโสภาค สุวรรณไม่ได้ในแง่ที่ว่า นางเอกของโสภาค สุวรรณมันอ่อนแอเหลือเกิน คือถ้าเทียบ "ฟ้าจรดทราย" ของโสภาค สุวรรณ กับ "รัศมีจันทร์" ของทมยันตีที่ใช้ฉากเป็นทะเลทรายเหมือนกัน แล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่า เราไม่สามารถรับความอ่อนแอของนางเอกในฟ้าจรดทรายได้เลย แต่นางเอกของ "รัศมีจันทร์" เป็น "ผู้นำกองทัพลึกลับ" ที่บางทีก็แอบลอบเข้าไปในห้องพระเอก แล้วทิ้งข้อความว่า "เรามา เราเห็น เราได้ยิน เราไป" หรืออะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นตอนเด็กๆเราก็เลยชอบทมยันตีสุดๆ

--แต่พอเราได้รับรู้บทบาทของทมยันตีในช่วง 6 ต.ค. 2519 เราก็เลยนึกย้อนไปถึงนิยายที่ได้อ่าน และพบว่ามีอยู่ 3 เรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกตงิดๆใจในตอนเด็ก ซึ่งก็คือ

1."เมียน้อย" ที่นำเสนอภาพสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในแง่บวกอย่างมาก

2+3 "กฤตยา" กับ "พิษสวาท" เพราะพระเอกของสองเรื่องนี้ ใช้อำนาจในการฆ่าคนบริสุทธิ์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ในความเห็นของเรา แต่ทมยันตีกลับดูเหมือนจะบอกว่าการใช้อำนาจในการฆ่าคนบริสุทธิ์ของพระเอกสองเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งผิดร้ายแรงแต่อย่างใด


No comments: