Monday, February 17, 2014

MEMORY OF A CINEPHILE

MEMORY OF A CINEPHILE
 
เนื่องในโอกาสที่หนังทดลองที่เราชอบสุดๆสองเรื่อง ซึ่งได้แก่ HSP: THERE IS NO ESCAPE FROM THE TERRORS OF THE MIND (2013, Rouzbeh Rashidi) กับ BIRTH OF THE SEANÉMA (2004, Sasithorn Ariyavicha) จะมาฉายที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ.นี้ ดังรายละเอียดในลิงค์นี้
 
เราก็เลยถือโอกาสนี้ จดบันทึกความทรงจำที่มีต่อหนังบางเรื่องที่เราเคยดูในอดีตดีกว่า ถึงแม้มันอาจจะไม่เกี่ยวกับหนังสองเรื่องนี้แต่อย่างใด 55555
 
หนังทดลองเรื่องแรกที่เราดูในชีวิตอาจจะเป็น BARAKA (1992, Ron Fricke) มั้ง ถ้าจำไม่ผิด ตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ในโรงเราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะก่อนหน้านั้นเราเคยดูแต่หนังฮอลลีวู้ด และหนังเล่าเรื่องแบบปกติน่ะ ยังไม่เคยดูหนังที่ไม่เล่าเรื่องมาก่อน พอได้ดู BARAKA เราก็เลยได้รู้ว่า มีหนังแบบนี้อยู่บนโลกด้วย เรารู้สึกว่ามันเพลิดเพลินมาก แต่ในแง่นึงเราก็มองว่ามันก็ให้ความสุขเราในแบบที่คล้ายๆมิวสิควิดีโอขนาดยาวนะ คือภาพมันสวย เสียงมันทรงพลัง และมันอาจจะมีประเด็นอนุรักษ์ธรรมชาติอะไรแทรกมาด้วย ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เราสนใจเท่าไหร่ สรุปว่า BARAKA เป็นหนังที่เราชอบมาก แต่ไม่ได้เป็นหนังที่ทำให้เราเริ่มรู้สึกสนใจ “หนังทดลอง” หรือ “หนังนอกกระแส” ขึ้นมา
 
หลังจากนั้นในช่วงปลายปี 1994 เราก็ได้ดูวิดีโอเรื่อง EDWARD II (1991, Derek Jarman) ตามคำแนะนำของเพื่อนเรา โดยยืมวิดีโอมาจากร้านเฟม สาขาคลองสาน พอได้ดูแล้วเราก็ชอบมาก และตกตะลึงพรึงเพริดกับความพิสดารของมันมากๆ (อย่าลืมว่าตอนนั้นเราเคยดูแต่หนังฮอลลีวู้ดมาก่อน) หนังเรื่องนี้เอาบทประพันธ์แบบย้อนยุคมาดัดแปลงให้กลายเป็นอะไรที่พิสดาร ตัวละครแต่ละตัวแต่งตัวแบบแปลกๆ ไม่เน้นความสมจริงหรือความเข้ากับยุคสมัย ฉากของเรื่องก็ไม่เน้นความสมจริงแต่อย่างใด และอยู่ดีๆก็มีแอนนี่ เลนน็อกซ์โผล่มาร้องเพลงกลางเรื่องเฉยเลย
 
ตอนที่เราได้ดู EDWARD II เรารู้สึกว่าเราชอบมันมากกว่าหนังชิงรางวัลออสการ์แทบทุกเรื่องที่เราเคยดูมา แล้วเราก็งงว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงไม่ได้ชิงออสการ์ คือก่อนหน้านั้นเราเชื่อว่ารางวัลออสการ์คือมาตรวัดที่น่าเชื่อถือได้ เราเชื่อว่ามันคือสิ่งที่การันตีคุณภาพของหนังได้จริงๆ แต่พอเราได้ดูหนังอย่าง EDWARD II เราก็เริ่มได้ข้อคิดว่า หนังรางวัลออสการ์กับหนังที่ถูกโฉลกกับเรา มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะฉะนั้นเราควรเลิกใส่ใจกับรางวัลออสการ์ และเสาะหาหนังที่ถูกโฉลกกับเรา หนังที่ให้ความสุขกับเราจริงๆดีกว่า ซึ่งหนังเรื่องนั้นอาจจะเป็นหนังที่ไม่ได้รางวัลอะไรมาก่อนเลยก็ได้
 
เนื่องจากเราไม่เคยเรียนภาพยนตร์มาก่อน และเคยดูแต่หนังฮอลลีวู้ดมาก่อน พอเรามาเจอหนังอย่าง EDWARD II เราก็เลยมองมันว่าเหมือนกับละครแอบเสิร์ด คือมันเป็นของแปลกใหม่ที่เราไม่รู้จะจัดประเภทมันไว้ในใจเราอย่างไรดีน่ะ เรารู้แต่ว่าเราชอบ EDWARD II มากๆ และเราก็ชอบบทละครแอบเสิร์ดอย่าง THE ZOO STORY ของ Edward Albee มากๆ พอเราได้ดูหนังอย่าง EDWARD II เราก็เลยได้รู้ว่า อ๋อ หนังที่เล่าเรื่องแบบแปลกๆ ไม่เน้นความสมจริงของเครื่องแต่งกาย+ฉาก+สถานการณ์ก็มีด้วยนะ แต่ในขณะที่องค์ประกอบต่างๆของมันไม่สมจริงน่ะ มันกลับกระตุ้นความคิดของเรามากๆเลย ว่าเครื่องแต่งกายแบบนี้มันสื่อถึงอะไร สถานการณ์แปลกๆแบบนี้มันสื่อถึงอะไร ฉากที่มัน minimal มากๆ มันก็สามารถทำหน้าที่ของมันได้ครบถ้วน หนังที่ดีไม่จำเป็นต้องมีฉากสมจริงแต่อย่างใด สรุปว่าในตอนปลายปี 1994 เรามองว่าหนังฮอลลีวู้ดที่เราเคยดูมาก่อนหน้านี้ มันเหมือนกับละครเวทีที่เล่าเรื่องแบบปกติน่ะ แต่ EDWARD II เป็นหนังเรื่องแรกที่เราได้ดูที่เล่าเรื่องแบบพิสดาร และมันทำให้เรานึกถึงกลวิธีของละครแอบเสิร์ด, Samuel Beckett, Bertolt Brecht หรืออะไรทำนองนี้ และทำให้เราสงสัยว่า มันมีหนังแบบนี้เรื่องอื่นๆอีกหรือเปล่า เพราะหนังแบบนี้มันถูกโฉลกกับเรามากๆเลย
 
พอในปี 1995 เราก็ได้ดูวิดีโอเรื่อง THE GARDEN (1990, Derek Jarman) และมันทำให้เราตกตะลึงพรึงเพริด ecstatic สุดๆ มันเป็นประสบการณ์สำคัญครั้งนึงในชีวิต เพราะเราไม่เคยดูอะไรที่เฮี้ยนขนาดนี้มาก่อน มันเป็นหนังที่เราดูไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่ต้นจนจบ (แต่ถ้ามาดูในตอนนี้คงรู้เรื่องกว่าในตอนนั้นเยอะ) เรารู้แต่ว่ามันเอาตำนานทางศาสนามาตีความใหม่ในแบบเกย์ แต่มันเต็มไปด้วยอะไรต่างๆมากมายที่เราไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร เรารู้แต่ว่ามันทำให้เรารู้สึก ecstatic มากๆ สรุปว่า THE GARDEN เป็นหนังเรื่องสำคัญในชีวิตเรา มันทำให้เราได้รู้ว่าหนังทดลอง, หนังเฮี้ยนๆ หนังที่ดูไม่รู้เรื่องแบบนี้แหละ ที่มันให้ความสุขกับเราได้มากกว่าหนังเล่าเรื่องโดยทั่วไปหลายร้อยเท่า
 
หลังจากนั้นเราก็เริ่มดูหนังตามสถาบันเกอเธ่และ Alliance และก็ได้เจอหนังแปลกๆที่ชอบสุดๆมากมาย แต่มันอาจจะไม่ได้เรียกว่าหนังทดลอง เรามาได้ดูหนังทดลองอย่างจริงจังครั้งแรกก็ในเทศกาล BANGKOK INTERNATIONAL ART FILM FESTIVAL ซึ่งจัดในวันที่ 29 มี.ค.-6 เม.ย. 1997 หนังที่เราชอบมากๆในเทศกาลนี้ก็มีเช่นเรื่อง TOKIO HOUSE (1990, Ishida Sumiaki), CRIMINAL TANGO (1985, Solweig von Kleist) ซึ่งสองเรื่องนี้เราจำรายละเอียดอะไรไม่ได้แล้ว, JAPANESE/ENGLISH PICTIONARY (1986, Yamamura Koji), MORPHIA (1995, Anette Haraldsen, Norway), TRIUMPH IN HIS FACE (1997, Chai Bulakul), 001 6643 225 059 (1994, Apichatpong Weerasethakul) และ DRIFTER (1993, Sasithorn Ariyavicha)
 
เทศกาลหนังทดลองครั้งนั้นเป็นอะไรที่เปิดหูเปิดตามากๆสำหรับเรา เพราะก่อนหน้านั้นเราเคยดูหนังแปลกๆอย่างหนังของ Luis Bunuel หรือ TRANS-EUROP-EXPRESS (1967, Alain-Robbe Grillet) ตามสถาบันฝรั่งเศสหรือเยอรมันมาบ้างก็จริง แต่หนังแปลกๆตามสถาบันเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังยาวที่ยังพอมีเนื้อเรื่องให้จับต้องได้บ้าง ยังมีอะไรที่เรารู้สึกว่าเป็นรูปธรรมอยู่บ้าง ถึงแม้มันจะเล่าเรื่องด้วยกลวิธีแบบพิลึกพิสดาร มันก็ยังมี “เรื่อง” ให้เล่าอยู่บ้าง แต่พอมาเจอหนังในเทศกาลหนังทดลอง เราถึงได้รู้ว่าหนังทดลองจริงๆมันเป็นอย่างไร 5555
 
เนื่องจากเราไม่เคยเจอหนังทดลองแบบในเทศกาลนั้นมาก่อน เราก็เลยพยายามหาทางจัดประเภทมันในใจเราในตอนนั้น เราจำได้ว่าในตอนนั้นเรามองว่าหนังทดลองก็คล้ายกับบทกวีน่ะ คือในขณะที่หนังส่วนใหญ่เหมือนกับนิยายหรือเรื่องสั้น และหนังยาวแบบแปลกๆหลายเรื่องสามารถเปรียบเทียบได้กับละครแอบเสิร์ด หนังทดลองในเทศกาลนี้ก็ทำให้เรานึกถึงบทกวี ในแง่ที่ว่า “มันไม่มีเนื้อเรื่อง ไม่มี conflict ไม่มี climax ไม่มีองก์ 1-2-3 ไม่มีการคลี่คลายปัญหา” แต่มันสามารถทำให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงได้ โดยไม่ต้องอาศัยเนื้อเรื่อง และไม่ต้องอาศัยความเข้าใจแต่อย่างใด คือในขณะที่บทกวีสามารถทำให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงได้ ผ่านทางตัวอักษร และจินตนาการในหัวของเราที่เกิดจากตัวอักษรที่เราได้อ่าน หรือผ่านทางความคิดที่เป็นนามธรรมอะไรบางอย่าง หนังทดลองในเทศกาลนั้นก็ทำให้เรารู้สึกคล้ายๆกัน
 
DRIFTER ของ Sasithorn Ariyavicha น่าจะเป็นหนึ่งในหนังบรรยากาศเรื่องแรกๆที่เราได้ดูในชีวิต เราจำได้ว่าเราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 ในตอนนั้น และเราก็ยังไม่ได้จูนติดแบบเต็มที่ 100% เต็มกับหนังทดลองส่วนใหญ่ในเทศกาลในตอนนั้น แต่ประสบการณ์การดู DRIFTER ในครั้งนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากสำหรับเรา เพราะเรายังไม่เคยดูหนังบรรยากาศมาก่อน เพราะฉะนั้นพอเราได้มาดู DRIFTER เราก็เลยพบว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เราไม่รู้ว่าอะไรคือ “ธีม” ของหนัง เราไม่รู้ว่าอะไรคือ “ประเด็น” ของหนัง เราไม่รู้ว่าอะไรคือ “ความหมาย” ของหนังเรื่องนี้ เราไม่รู้ว่าอะไรคือ “สัญลักษณ์” ในหนังเรื่องนี้ เรารู้แต่ว่าบรรยากาศหม่นๆในหนังเรื่องนี้มันทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่าง และมันก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ยากจะบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรได้ว่ามันเป็นอารมณ์ความรู้สึกอะไรกันแน่
 
หลังจากนั้นในอีกหลายปีต่อมา เราถึงได้รู้ว่า DRIFTER น่าจะได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากหนังเรื่อง NEWS FROM HOME (1976, Chantal Akerman) ซึ่งเป็นหนังที่เราต้องใช้เวลาในการจูนกับมันเหมือนกัน เราจำได้ว่าตอนที่เราดู NEWS FROM HOME รอบแรกตอนที่พี่สนธยา ทรัพย์เย็นเอามาฉาย เรารู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ประหลาดมาก และบางเบามาก หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการถ่ายฉากสถานที่ต่างๆในนิวยอร์ค โดยไม่ได้มีความพยายามที่จะขับเน้นบรรยากาศของสถานที่นั้นๆให้เด่นขึ้นมาเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรงแต่อย่างใด เราก็เลยจำได้ว่าตอนที่เราดูรอบแรก เราชอบความแปลกของมัน แต่เราไม่ได้ชอบมันในระดับ A+30 เพราะเราไม่ได้หลงใหลในบรรยากาศของมัน
 
แต่พอพี่สนธยาเอาหนังเรื่อง NEWS FROM HOME มาฉายรอบสอง เราก็ชอบมันเพิ่มขึ้นมาก ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน บางทีประสบการณ์ชีวิต/ประสบการณ์การดูหนังของเราในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีส่วนทำให้อารมณ์ความรู้สึกของเราจูนติดกับหนังมากขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เรารู้สึกมีความสุขที่ได้ดูความเรียบง่ายของฉากสถานที่ต่างๆใน NEWS FROM HOME เรารู้สึกมีความสุขที่หนังเรื่องนี้ไม่พยายามเร้าอารมณ์อะไรเรา แต่ให้อิสระกับเราในการจ้องมอง, ในการคิด, ในการรู้สึกต่างๆด้วยตัวเราเอง เรารู้สึกว่าหนังอย่าง DRIFTER และ NEWS FROM HOME มันเป็นหนังที่ท้าทาย “การบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร” จริงๆ เพราะอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในหนังสองเรื่องนี้และหนังทดลองหลายๆเรื่อง มันตอกย้ำให้เราได้รู้ว่า มันมีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆมากมายในใจเรา ที่มันไม่มีการบัญญัติศัพท์มาก่อน เราจะบรรยายความรู้สึกของเราที่มีต่อฉากจบของ NEWS FROM HOME ได้อย่างไรกัน มันเป็นฉากที่เราชอบมากๆ แต่มันก็ไม่ใช่อารมณ์แบบ ecstatic อย่างรุนแรงเหมือนกับที่เราได้จากหนังเรื่อง TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND (1976, Bruce Conner), มันไม่ใช่ความสุขในการดื่มด่ำกับบรรยากาศของฉากนั้นเหมือนอย่าง SUBURBS OF EMPTINESS (2003, Thomas Koener), มันไม่ได้สะกดจิตเราในแบบเดียวกับ WINDOWS ของ Apichatpong Weerasethakul, มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึก joyful เหมือนอย่าง ALL MY LIFE (1966, Bruce Baillie) มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เบาบางกว่าหนังพวกนี้
 
 

2 comments:

celinejulie said...

ขออนุญาตแก้ความเข้าใจผิดครับ สรุปว่า DRIFTER ไม่ได้รับอิทธิพลมาจาก NEWS FROM HOME ครับ :-)

celinejulie said...

ขอแก้ไขความทรงจำที่เลอะเลือนของตัวเองจ้ะ เราลองเช็คดูแล้ว ปรากฏว่าเราดู BARAKA ในปี 1995 เพราะฉะนั้นหนังทดลองเรื่องแรกที่เราได้ดูน่าจะเป็น EDWARD II ที่เราได้ดูในปี 1994