Saturday, May 17, 2014

ONI (2014, Chatchai Sattayadith, stage play, A+10)

ONI (2014, Chatchai Sattayadith, stage play, A+10)
 
 
ตอนแรกที่ดูจะแอบนึกว่า เอ๊ะ ละครเรื่องนี้จะได้รับอิทธิพลจาก Ninart Boonpothong มากน้อยแค่ไหน เพราะเรายังไม่เคยดูผลงานการกำกับของคุณชาติชายมาก่อนเลย เราเคยเห็นเขาก็แต่เวลาที่เขาแสดงละครที่กำกับโดยคุณนินาทเท่านั้น แต่พอเราดู ONI ไปเรื่อยๆ เราก็พบว่า ละครเรื่องนี้แตกต่างจากละครของนินาทค่อนข้างมาก และดีกันไปคนละแบบ
 
เราว่าละครของนินาทมีจุดเด่นที่ content น่ะ บทละครส่วนใหญ่ของนินาทจะมีเนื้อหาที่แน่นมาก, เนื้อหาจะ thought provoking มาก มีเรื่องให้คิดเยอะมาก และก็มักจะสะท้อนปัญหาบางอย่างทางสังคมหรือการเมือง หรือการทรยศหักหลังกัน แต่ ONI จะมีจุดเด่นในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ content เพราะเราว่าในส่วนของเนื้อเรื่องแล้ว เนื้อเรื่องของ ONI ไม่หนักหัวเหมือนของ Ninart เนื้อหาของ ONI เป็นเหมือนเรื่องราวการผจญภัยสนุกสนาน ออกแนวแฟนตาซีแบบ LORD OF THE RINGS มันเป็นโลกของเทพนิยายที่เบาสบายและไม่เครียดเหมือนของ Ninart แต่ในขณะเดียวกันเราก็ชอบ ONI มากๆในแง่ที่ว่า ถึงแม้เนื้อเรื่องมันจะเบากว่าของนินาท มันก็ “จริงจัง” กับตัวละครของมันมากพอสมควร
 
สิ่งที่เราชอบมากๆใน ONI ก็เลยไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็น “ความงดงามทางการเคลื่อนไหวและจังหวะต่างๆ” อย่างเช่นจังหวะการร่ายรำ, จังหวะการเคาะไม้ อะไรพวกนี้ เราว่าการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงในบางฉากของเรื่องนี้ มันดู graceful มันงดงาม มันได้รับการออกแบบมาดีน่ะ ซึ่งสิ่งนี้จะไม่ใช่จุดเด่นในละครส่วนใหญ่ของนินาท แต่มันคือจุดเด่นของ ONI
 
นอกจาก “ความงดงามทางการเคลื่อนไหวและจังหวะ” แล้ว เราก็ชอบโทนของละครเรื่องนี้ในระดับหนึ่งด้วย คือเราชอบที่ถึงแม้เนื้อเรื่องมันจะออกมาเป็นโลกเทพนิยาย แต่มันก็มีโทนค่อนข้างซีเรียสเล็กน้อย, มีอารมณ์เจ็บปวด และมีความขลังบางอย่างน่ะ คือแทนที่ละครเรื่องนี้จะออกมาในโทนตลก หรือ ผจญภัยสนุกสนาน ละครเรื่องนี้กลับออกมาในโทนที่ดูขลังและเจ็บปวดเล็กน้อยแทน
 
คือเวลาเราดู ONI เราจะนึกเปรียบเทียบกับหนังเรื่องต่างๆที่เราเคยดูมาแล้ว โดยเฉพาะหนังเกี่ยวกับโลกเทพนิยายของญี่ปุ่น อย่างเช่น
 
1.DORORO (2007, Akihiko Shiota)
 
2.KITARO (2007, Katsuhide Motoki)
 
3.KURONEKO (1968, Kaneto Shindo)
 
4.KWAIDAN (1964, Masaki Kobayashi)
 
5.UGETSU (1953, Kenji Mizoguchi)
 
6.THE YIN-YANG MASTER (2001, Yojiro Takita)
 
คือเราชอบมากที่ ONI ไม่เลือกที่จะทำตัวเองเป็นเหมือนหนังอย่าง DORORO, KITARO กับ THE YIN-YANG MASTER น่ะ แต่ ONI กลับทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง KURONEKO, KWAIDAN กับ UGETSU แทน คือหนังอย่าง DORORO, KITARO กับ THE YIN-YANG MASTER นั้น มันสนุกที่เนื้อเรื่อง แต่โทนของหนังมันจะออกมาตลกๆ ไม่ซีเรียส ดูหุยฮาปาหี่แตก ซึ่งจะตรงข้ามกับโทนของหนังอย่าง KURONEKO, KWAIDAN กับ UGETSU ที่โทนจะออกมาขรึมขลัง, ซีเรียสจริงจัง และสง่างาม เราว่าโทนของ ONI ไปกันได้กับหนังสามเรื่องหลังนี้ เพราะ ONI ไม่ได้ต้องการเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม และไม่ได้ต้องการทำให้ผู้ชมลุ้นระทึกไปกับเนื้อเรื่อง สิ่งที่เราได้จาก ONI คือความรู้สึกเจ็บปวดของตัวละครฮาชิฮิเมะ (ยามัมบะ), ความสง่างามทางการเคลื่อนไหวของนักแสดง และความประทับใจที่โลกปีศาจในหนังเรื่องนี้ดูค่อนข้างจริงจัง
 
สรุปว่า พอเวลาเราดู ONI แล้ว เราก็อดจะจินตนาการไม่ได้ว่า ถ้าหากละครเวทีเรื่องนี้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนัง มันจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เราว่ามันอาจจะออกมาเป็นหนังที่ขลังมากๆอย่าง KURONEKO ก็ได้
 

No comments: