Tuesday, June 17, 2014

ENTITY (2014, Kwanruetai Chinbunnark, A+)

เขียนถึงหนังสั้นสองเรื่องควบ
 
1.ENTITY (2014, Kwanruetai Chinbunnark, A+)
จริงตนาการ (ขวัญฤทัย ชินบุนนาค)
 
2.IMAGINE IS VEY OK (2014, Jutamat Piromruen, A-)
IMAGINE IS VERY OK (จุฑามาศ ภิรมย์รื่น)
 
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
 
หนังสั้นสองเรื่องนี้มีจุดที่กระทบความรู้สึกเราในแบบที่คล้ายคลึงกัน หรือสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เราก็เลยเขียนควบเลยก็แล้วกัน
 
สิ่งที่เราติดใจมากที่สุดในหนังสั้นสองเรื่องนี้ ก็คือพฤติกรรมของตัวละครเอกที่มัน disturbing หรือรบกวนจิตใจเราน่ะ เราชอบการสร้างตัวละครแบบนี้นะ คือเราว่าตัวพระเอกใน ENTITY กับตัวนางเอกใน IMAGINE IS VERY OK มันทำในสิ่งที่ morally wrong สำหรับเรา เพราะพระเอกใน ENTITY แอบติดกล้องลับเพื่อลอบดูนางเอก ส่วนนางเอกใน IMAGINE IS VERY OK ก็โกหกเพื่อนๆ แต่ถึงแม้ว่าตัวละครสองตัวนี้จะทำในสิ่งที่ morally wrong ในความเห็นของเรา เราก็ไม่ได้คิดว่าพวกเขาเป็นคนชั่วหรือคนเลว คือเราไม่สามารถตัดสินตัวละครสองตัวนี้ได้อย่างง่ายๆน่ะ เรารังเกียจพฤติกรรมของตัวละครสองตัวนี้ก็จริง แต่เราก็ไม่อาจเรียกพวกเขาว่าคนเลวได้อย่างสนิทปาก และหนังสองเรื่องนี้ก็ไม่ได้ลงโทษตัวละครสองตัวนี้อย่างชัดเจนด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าหนังสองเรื่องนี้มัน disturbing สำหรับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะการสร้างตัวละครประเภทขาวจัด ดำจัดเป็นสิ่งที่ง่าย ในขณะที่การสร้างตัวละครที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกกำกวม, ไม่สบายใจ, จัดประเภทได้ยาก แบบในหนังสองเรื่องนี้นี่แหละ เป็นสิ่งที่ยากกว่า และเป็นสิ่งที่เราชอบ
 
อย่างไรก็ดี สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ ENTITY มากกว่า IMAGINE IS VERY OK คือเราไม่แน่ใจว่าตัวหนัง IMAGINE IS VERY OK มีทัศนคติอย่างไรกันแน่ต่อตัวนางเอกของเรื่อง คือใน ENTITY นั้น เรารู้สึกว่าหนังมองพระเอกของเรื่องอย่างค่อนข้าง objective หน่อยๆ คือไม่ได้เข้าข้าง, ไม่ได้ตัดสิน, ไม่ได้ประณาม เราก็เลยรู้สึกโอเคกับการนำเสนอพฤติกรรมที่ morally wrong ของพระเอกใน ENTITY แต่ใน IMAGINE IS VERY OK นั้น หนังก้าวล่วงเข้าไปในมุมมองของนางเอก และนำเสนอโลกที่อยู่ในความคิดของนางเอกออกมา และแนวคิดของนางเอกมันก็เป็นแนวคิดที่ disturbing มากๆสำหรับเรา เราก็เลยไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มันมองนางเอกอย่างไรกันแน่ มันเห็นด้วยกับนางเอกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการดู IMAGINE IS VERY OK ก็เลยทำให้เราไม่ happy มากเท่ากับการดู ENTITY เพราะในแง่นึงเรารู้สึกว่าทัศนคติของ ENTITY เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้อย่างสบายใจ แต่เราไม่รู้ว่าจริงๆแล้วทัศนคติของ IMAGINE IS VERY OK ที่มีต่อตัวนางเอกเป็นอย่างไร เรารู้แต่ว่าเรารู้สึก disturb มากๆกับนางเอกของเรื่องนี้ เราก็เลยให้เกรดแค่ A- เพื่อสะท้อนว่าเราชอบหนังเรื่องนี้มากในระดับนึง แต่ไม่ถึงขั้นชอบมากอย่างสนิทใจ
 
อีกสิ่งที่เราพบว่าหนังสองเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกัน ก็คือเรารู้สึกว่าพระเอกของ ENTITY และนางเอกของ IMAGINE IS VERY OK มีปัญหาเดียวกันในความเห็นส่วนตัวของเรา นั่นก็คือ “การไม่พูดตรงๆ” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการสร้างตัวละครที่ไม่พูดตรงๆเป็นสิ่งที่ผิดนะ การสร้างตัวละครที่มีปัญหาแบบตัวละครสองตัวนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วในหนัง เพราะมันเป็นการนำเสนอว่ามีมนุษย์บางคนที่มีปัญหาแบบนี้จริงๆ และเราสามารถพบคนแบบนี้จริงๆได้มากมายรอบตัวเรา สิ่งที่เราจะเขียนต่อไปนี้ไม่ใช่การบอกว่าหนังเรื่องนี้มีจุดบกพร่อง แต่เป็นการระบายความรู้สึกของเราที่มีต่อตัวละครสองตัวนี้
 
เราว่าพระเอกของ ENTITY อาจจะมีชีวิตที่มีความสุขกว่านี้นะ ถ้าหากเขาจีบนางเอกตรงๆไปเลย ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอะไร จีบตรงๆไปเลย ถ้าหากเขาชอบ ก็ happy ending ไป ถ้าหากเขาไม่ชอบ ก็ตัดใจไป แทนที่จะใช้วิธีถ้ำมองเป็นเวลาหลายเดือนแบบนี้ แต่ในแง่นึง หนังก็ไม่ได้บอกเราอย่างชัดเจนว่า พระเอกรักนางเอกหรือเปล่า บางทีพระเอกอาจจะเป็นแค่คนโรคจิตคนนึง ที่ไม่ได้ต้องการนางเอกเป็นแฟนแต่อย่างใด เขาอาจจะแค่มีความสุขที่ได้ถ้ำมองนางเอกเท่านั้น แต่ไม่ได้ต้องการมีความสัมพันธ์กับนางเอกในชีวิตจริง
 
ส่วนนางเอกของ IMAGINE IS VERY OK นั้นรบกวนจิตใจเรามากเพราะเราเข้าใจว่าเธอใช้วิธีพูดโกหกเพื่อรับมือกับเพื่อนๆของเธอ คือถ้าหากเราเป็นเธอ เราก็คงพูดกับเพื่อนตรงๆไปเลยว่า “กูไม่มีผัว และกูไม่มีเงิน จบ” และถ้าเพื่อนๆของเราจะดูถูกเราเพราะจุดนี้ เราก็ไม่แคร์ เพราะสิ่งที่สำคัญคือการที่เราต้องยืนหยัดในทัศนคติของเราที่ว่า “การไม่มีผัว และการเป็นคนจน มันไม่ใช่สิ่งผิด เพราะฉะนั้นเราไม่เห็นจะต้องอายอะไร ถ้าใครมองว่าการเป็นคนจน เป็นสิ่งผิด มึงนั่นแหละที่ผิด”
 
เราว่าสิ่งที่น่าสนใจใน IMAGINE IS VERY OK ก็คือการสะท้อนภาพความป่วยไข้สองระดับในสายตาของเรา คือเพื่อนๆของนางเอกดูเหมือนจะมีความป่วยไข้ในระดับนึง ในแง่ที่เป็นคนบ้าสินค้าแบรนด์เนม, ใช้ของฟุ่มเฟือย, ทำตามกระแสสังคม แต่เราว่านางเอกของเรื่องป่วยไข้ยิ่งกว่าเพื่อนๆของเธอซะอีก เพราะในแง่นึงเรามองว่า lifestyle ของเพื่อนๆนางเอกนั้น ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่มันก็เป็น “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของเขา” คือเขาจะใช้กระเป๋าหรือตุ้มหูราคาแพงเท่าไหร่ มันก็เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของเขา มันไม่ได้หนักหัวคนอื่นๆซักหน่อย ตราบใดที่เขาไม่ได้ไปขโมยเงินคนอื่นๆหรือบังคับให้คนอื่นๆคิดเหมือนเขาหรือทำตามอย่างเขา แต่เรามองว่าการที่นางเอกโกหกเพื่อนๆ หรือไม่จริงใจกับเพื่อนๆน่ะ เป็นสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าสิ่งที่เพื่อนๆนางเอกทำเสียอีก คือเรามองว่าการที่เพื่อนๆจะมี lifestyle ไม่เหมือนเรา มันเป็นสิ่งที่เรารับได้ คือมึงจะเป็นผู้ดีตีนแดงหรือเป็นกะหรี่ กูก็รับมึงได้ ตราบใดที่เขาไม่มาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพของเรา แต่การโกหกแบบที่นางเอกหนังเรื่องนี้ทำ มันเป็นสิ่งที่น่าสมเพชเสียยิ่งกว่าสิ่งที่เพื่อนๆของเธอทำ
 
เอาล่ะ คราวนี้จะเขียนแยกเป็นเรื่องๆ
 
ในส่วนของ ENTITY นั้น เราชอบการถ่ายทำตั้งแต่ต้นจนจบเลยนะ สิ่งที่เราชอบในหนังเรื่องนี้ก็มีเช่น
 
1.การถ่ายภาพในระยะค่อนข้างไกลหน่อย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของเรื่อง
 
2.การที่หนังเหมือน shift ตัวละครที่เราติดตาม คือในตอนแรกเราเหมือนกับมองหนังผ่านทางมุมมองของนางเอกน่ะ และเราก็แอบคิดว่านางเอกต้องพยายามอ่อยพระเอกแน่ๆเลย แต่พอครึ่งเรื่องหลังหนังก็เปลี่ยนจากมุมมองของนางเอกมาเป็นมุมมองของพระเอกเฉยเลย
 
3.ชอบการผ่านเลยของเวลาโดยคนดูไม่ทันตั้งตัว คือเรานึกว่าเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 3 วัน แต่พอดูจบถึงเพิ่งรู้ว่าเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในเวลาหลายเดือน
 
4.ดูแล้วทำให้นึกถึง A SHORT FILM ABOUT LOVE (1988, Krzysztof Kieslowski) ที่เป็นเรื่องของหนุ่มถ้ำมองเหมือนกัน เพียงแต่ว่า ENTITY สะท้อนเทคโนโลยีของยุคสมัยปัจจุบันในการถ้ำมองและในการบันทึกข้อมูล ในขณะที่พระเอกของ A SHORT FILM ABOUT LOVE ต้องใช้กล้องส่องทางไกลในการถ้ำมองในยุคนั้น
 
ส่วน IMAGINE IS VERY OK นั้น เราไม่มีความเห็นอะไรที่เป็นพิเศษนะต่อองค์ประกอบต่างๆในหนัง เราว่าส่วนใหญ่มันก็ออกมาใช้ได้น่ะ เราเพียงแต่มีมีปัญหากับทัศนคติของนางเอกหรือวิธีการที่นางเอกใช้รับมือกับปัญหาเท่านั้นแหละ
 

No comments: