Wednesday, August 27, 2014

ROMEO THE GREATEST LOVER (2014, Pisal Pattanaperadech, stage play, A/A-)


ROMEO THE GREATEST LOVER (2014, Pisal Pattanaperadech, stage play, A/A-)

ความรู้สึกที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้

1.ชอบการแสดงของคุณเกษมพัฒน์ วาณิชธัญญะในระดับ A+30 (หรือชอบสุดๆ) เลย ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะคุณเกษมพัฒน์เล่นดี หรือเป็นเพราะเราอินกับการใช้นักแสดงชายมาเล่นเป็นจูเลียต หรือจริงๆแล้วคงเป็นเพราะทั้งสองสองปัจจัย

ช่วงที่คุณเกษมพัฒน์ออกมา ซึ่งเป็นฉากที่จูเลียตออกมาที่ระเบียงนั้น เรารู้สึกว่ามันพีคมากๆ ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่ดูฉากนี้แล้วแทบร้องไห้ ทั้งๆที่ฉากนี้ไม่ใช่ฉากเศร้า และเราไม่เคยรู้สึกอินอะไรกับฉากนี้มาก่อนในการดู ROMEO AND JULIET หลายเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้

2.เราว่าการใช้พระราชนิพนธ์ของร.6 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้ชอบละครเรื่องนี้มากนัก (แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกับผู้ชมคนอื่นๆก็ได้นะ) เพราะว่า

2.1 ถ้าเราจำไม่ผิด เราเคยดูละคร ROMEO AND JULIET เวอร์ชั่นที่ดัดแปลงมาจากพระราชนิพนธ์ของร. 6 มาแล้ว โดยในตอนนั้นจัดแสดงโดยกลุ่มหน้ากากเปลือยในชื่อเรื่องว่า “เจ้าหญิงหมาป่ากับเจ้าชายรัตติกาล” (2009, A-) เพราะฉะนั้นการได้ดูอะไรแบบนี้ซ้ำอีกก็เลยทำให้เรารู้สึกเบื่อ

2.2 เราว่าคุณพิศาลกับคุณเกษมพัฒน์พูดบทกลอนของร.6 ออกมาได้ดีสุดๆ คือเหมือนกับว่าทั้งสองคนนี้ใช้ approach อะไรบางอย่างที่ลงตัวสุดๆกับการแสดงละครเวทีแบบใช้บทกลอนแบบนี้ แต่การแสดงของคนอื่นๆโดยเฉพาะของฟลุก ธีรภัทร โลหนันท์ในบทพระเอกนั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า พวกเขาพูดกลอนได้ดี, คล่อง, สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ดีในระดับนึง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราอดจินตนาการไม่ได้ว่า ถ้าหากพวกเขาแสดงละครเวทีเรื่องนี้ โดยไม่ต้องพูดเป็นกลอน แต่ใช้ dialogue แบบสมจริง หรือแบบดราม่าเล็กน้อย มันอาจจะออกมาเข้าทางเรามากกว่านี้มากๆ คือเราจินตนาการว่า ถ้าหากพวกเขาไม่ต้องพูดเป็นกลอน แต่พูดบทออกมาแบบเป็นธรรมชาติ หรือทำให้ดูเหมือนด้นสดเล็กน้อย หรืออะไรทำนองนี้ พวกเขาอาจทำให้คำแต่ละคำที่เปล่งออกมาจากปากของพวกเขา มันสามารถสื่ออารมณ์ที่ละเอียดอ่อน หรืออารมณ์ที่ลึกซึ้ง หรืออารมณ์ที่ออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจได้ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่าการต้องพูดเป็นบทกลอน มันกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางนักแสดงหลายคนในเรื่องนี้จากการสื่ออารมณ์ความรู้สึกแบบออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจน่ะ

ไม่ใช่ว่าพวกเขาเล่นไม่ดีนะ เราว่าพวกเขาแสดงใช้ได้แล้วล่ะ แต่ style ของละครเรื่องนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางพวกเขาจากการแสดงในแบบที่ตัวเองถนัดที่สุด หรือ style ของละครเรื่องนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางเราในฐานะคนดูจากการอินไปกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร คือแทนที่ “คำ, น้ำเสียง และการหยุดระหว่างคำ เพราะเหมือนมีก้อนอะไรมาจุกอยู่ที่คอหอย” ที่ตัวละครพูด/แสดงออกมา จะสามารถกระทบอารมณ์ความรู้สึกของเราได้โดยตรง การพูดเป็นกลอนมันทำให้นักแสดงไม่สามารถสื่อความรู้สึกออกมาได้แบบเป็นธรรมชาติ และมันทำให้เราในฐานะคนดูต้อง “แปลจากร้อยกรองกลับมาเป็นร้อยแก้ว” ในหัวเป็นเวลาระยะนึงด้วย เพราะฉะนั้นอารมณ์ความรู้สึกที่เราได้รับจากละครเรื่องนี้จึงสูญหายไปเยอะพอสมควรเพราะกลอนเป็นอุปสรรค

3.นอกจากการแสดงของคุณเกษมพัฒน์แล้ว สิ่งที่เราชอบเป็นอันดับสองในละครเรื่องนี้ก็คือมันกระตุ้นให้เราตั้งคำถามต่างๆต่อเรื่องราวของ ROMEO AND JULIET

คือตอนที่เราดูละครเรื่องนี้จบ เราพบว่าเราไม่เข้าใจละครเรื่องนี้ทั้งหมดนะ เรางงๆเล็กน้อยกับตอนจบ ไม่เข้าใจว่าละครต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ แต่นั่นไม่ได้สำคัญมากสำหรับเรา คือถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าใจละครเรื่องนี้ซะทีเดียว แต่มันก็ทำให้เราคิดตั้งคำถามต่างๆมากมาย อย่างเช่น

3.1 ความรักของโรมีโอ เป็นเพียงแค่ความหลงชั่วครู่ชั่วยาม หรือเป็นเพียงแค่ตัณหาราคะที่ทำให้หน้ามืดตามัวเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยามหรือเปล่า

3.2 ความรักของ Romeo กับ Juliet เกิดขึ้นในเวลาที่สั้นมาก เพราะฉะนั้นถ้าหากทั้งสองไม่ตาย แล้ว Romeo ได้เรียนรู้แง่มุมอื่นๆของจูเลียต เขาจะยังรักจูเลียตเหมือนเดิมหรือเปล่า คือมันเหมือนกับว่าโรมีโอได้รู้จักจูเลียตเพียงแค่ด้านที่งดงามที่สุดเท่านั้น ซึ่งด้านนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่ 20 % ของ “ความเป็นมนุษย์ทั้งหมดของจูเลียต” แต่ถ้าหากทั้งสองได้อยู่ด้วยกันต่อไป โรมีโอก็จะได้รู้จักกับ 80% ที่เหลือของจูเลียต แล้วเขาจะยังรักจูเลียตเหมือนเดิมไหม

3.3 ถ้าทั้งสองไม่ตาย แล้วอยู่ด้วยกันต่อไปอีกสัก 5-10 ปี มันก็ไม่แน่ว่า โรมีโออาจจะเริ่มนอกใจจูเลียตเพราะเขาเกิดรักแรกพบกับหญิงสาวคนใหม่ขึ้นมาก็เป็นได้

4.ตัวละครเทวดาในเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงปีศาจใน FAUST ด้วย และเราก็ชอบไอเดียที่เหมือนมีการผสม FAUST เข้ากับ ROMEO AND JULIET

5.แต่ถึงแม้เราจะชอบ “ไอเดีย” ของละครเรื่องนี้อย่างมากๆ ที่เหมือนเป็นการตั้งคำถามต่อแง่มุมบางอย่างใน ROMEO AND JULIET เรากลับพบว่าเรารู้สึกเบื่อขณะดูละครเรื่องนี้ (ยกเว้นในฉากของคุณเกษมพัฒน์) มันเหมือนกับว่าละครเรื่องนี้มีไอเดียที่ดี แต่วิธีการนำเสนอหรือ execution of idea มันไม่เข้าทางเราสักเท่าไหร่

ความเบื่อหน่ายของเรามันเกิดจากการต้องดูเรื่องราวใน ROMEO AND JULIET ซ้ำน่ะ ซึ่งผู้ชมคนอื่นๆอาจจะไม่รู้สึกเหมือนเรา แต่เรารู้สึกเบื่อเรื่องราวใน ROMEO AND JULIET มากๆ เพราะเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เราเพิ่งดูหนังสองเรื่องที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์นี้ของเชคสเปียร์เหมือนกัน ซึ่งก็คือเรื่อง RAM LEELA (2013, Sanjay Leela Bhansali, India) กับเรื่อง ROMEO AND JULIET (2013, Carlo Carlei) เพราะฉะนั้นการต้องมาดู ROMEO AND JULIET เวอร์ชั่นที่ 3 ภายในเวลาไล่เลี่ยกันแบบนี้ มันเลยทำให้เรารู้สึกเบื่อมาก แต่ผู้ชมคนอื่นๆที่ไม่ได้ดูอะไรแบบนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันเหมือนเรา คงจะไม่รู้สึกเบื่อเหมือนเรา

6.ดูจบแล้วเราก็ตั้งคำถามต่อตัวเราเองเหมือนกันว่า แล้วละครแบบไหนที่จะเข้าทางเรา เราคิดว่าละครแบบที่ตั้งคำถามต่อบทประพันธ์ชื่อดังหรือตัวละครชื่อดังนั้น มันจะเข้าทางเราถ้าหากมันตัดตัวบทประพันธ์เดิมทิ้งไปเลย คือไม่ต้องเล่าเรื่องเดิมซ้ำอีกแล้ว แล้วก็สร้างละครเรื่องใหม่ขึ้นมาโดยเอาตัวละครชื่อดังตัวนั้นมาใช้ คือเรานึกถึงละครอย่าง

6.1 LOST GIRLZ (2008, นินาท บุญโพธิ์ทอง) ที่เป็นการเอาตัวละครประเภทซินเดอเรลล่า, เจ้าหญิงนิทรา, สโนว์ไวท์มาปะทะกัน

6.2 สีดา-ศรีราม? (พรรัตน์ ดำรุง, A+30) ที่เอาตัวละครประเภทสีดา, นางสำมนักขา มาดัดแปลงใหม่ โดยเอามาเปรียบเทียบกับบทบาทผู้หญิงในยุคปัจจุบัน โดยไม่ต้องเล่าเรื่องของนางสีดาและนางสำมนักขาซ้ำใหม่

6.3 นางร้ายในลงกา (นิกร แซ่ตั้ง, A+30) ที่เป็นการเอาตัวละครในรามเกียรติ์มาปะทะกัน โดยเหมือนกับตัดเอาเรื่องราวในรามเกียรติ์ทิ้งไปเลย ไม่ต้องเล่าซ้ำ แค่เอาตัวละครมาใช้เท่านั้น

คือเราว่าช่วงที่เป็นการ intervene เข้าไปในบทประพันธ์เดิมใน ROMEO THE GREATEST LOVER เป็นช่วงที่เราชอบ แต่ช่วงที่เป็นการเล่าเนื้อเรื่องดั้งเดิมเป็นช่วงที่เราเบื่อมาก เราก็เลยคิดว่า บางทีละครเรื่องนี้อาจจะเข้าทางเรามากยิ่งขึ้นก็ได้ ถ้าหาก

1.มันตัดเนื้อเรื่องเดิมทิ้งไปเลย แบบละครเวทีเรื่องอื่นๆที่เรายกตัวอย่างมาข้างต้น
2.ทำเป็นละครซ้อนละคร โดยอาจจะเป็นเรื่องของนักศึกษามหาลัยกลุ่มหนึ่งที่ดู ROMEO AND JULIET แล้วนักศึกษากลุ่มนี้ก็พูดคุยกันเองเพื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์ตัวละครโรมีโอ โดยนำมาเทียบกับไอ้ขวัญในแผลเก่า, โกโบริในคู่กรรม, พี่มากในแม่นาค, ฯลฯ โดยที่นักศึกษาแต่ละคนในกลุ่มนี้ต่างก็มีปมความรักในใจตัวเองอยู่ด้วย คือถ้าใช้วิธีการแบบนี้ ระดับการ intervene เข้าไปในบทประพันธ์เดิมมันจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญสุดๆ และมันจะกลายเป็นละครที่เข้าทางเรา

สรุปว่าเราเบื่อเนื้อหาของ ROMEO AND JULIET มากๆ แต่เราชอบไอเดียบางอย่างใน ROMEO THE GREATEST LOVER และเราชอบการแสดงของคุณเกษมพัฒน์ในเรื่องนี้อย่างสุดๆ




No comments: