Friday, October 31, 2014

TARO THE LITTLE POODLE (2014, Sangsan Santimaneerat, stage play, A+20)

TARO THE LITTLE POODLE (2014, Sangsan Santimaneerat, stage play, A+20)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--

ความรู้สึกที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้

1.ชอบการแสดงมากๆเลยนะ ชอบในระดับ A+30 หรือชอบสุดๆเลย เราว่าการแสดงของคุณ Sangsan มีเสน่ห์มากๆ และตรึงความสนใจของผู้ชมไว้ได้โดยตลอด ทั้งๆที่โดยตัวเนื้อเรื่องแล้วมันไม่ได้มีอะไรที่รุนแรงหรือน่าสนใจแบบสุดๆ คือเราว่าเนื้อเรื่องของละครเรื่องนี้มันอาจจะน่าสนใจแค่ในระดับ 7-8/10 แต่การแสดงมันตรึงความสนใจไว้ได้ในระดับ 10/10

2.สาเหตุที่เราไม่ได้ชอบละครเวทีเรื่องนี้แบบสุดๆ เป็นเพราะว่าเรามีความเห็นก้ำกึ่งต่อเนื้อหาส่วนที่เป็นการมองโลกมองสังคมน่ะ คือเราอาจจะแบ่งเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้ออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่เป็นชีวิตส่วนตัวของตัวละคร กับส่วนที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โลกและสังคม โดยในส่วนที่เป็นชีวิตส่วนตัวของตัวละครนั้น เราค่อนข้างชอบ ถึงแม้จะไม่ได้ถึงขั้นชอบสุดๆ แต่ในส่วนที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โลกและสังคมนั้น เราชอบแค่ในระดับประมาณ 60-70% เท่านั้น

เราก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเรามีปัญหาอะไรกับส่วนที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โลกและสังคมในละครเวทีเรื่องนี้ คือเราเห็นด้วยประมาณครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ตัวละครพูดนะ เพราะเราก็มีปัญหากับสถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัวมากๆ และเราก็ชอบมากๆที่ละครเวทีเรื่องนี้กล้าพูดถึงสถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัวในทางลบ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็เหมือนมี “ท่าที” บางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันยังไม่เข้าที่เข้าทาง หรือมันไม่ถูกใจเราซะทีเดียวน่ะ เราบอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่ก่อนอื่นเราขอชี้แจงว่า เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวละครพูดเป็นทัศนคติจริงๆของผู้กำกับ/ผู้เขียนบท หรือเป็นทัศนคติที่ผู้กำกับเองก็ไม่เห็นด้วย แต่นำเสนอผ่านทางตัวละคร เพื่อให้ผู้ชม “ถกเถียงกับตัวละครในใจของผู้ชมเอง” นะ แต่เรารู้สึกว่าตัวละครตัวนี้มีทัศนคติที่น่ากังขาหลายอย่าง

สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันลักลั่นอย่างเห็นได้ชัดก็คือว่า การโยงปัญหาในการไม่กล้าสารภาพรักของตัวละคร/ปัญหาชีวิตรักของตัวละคร เข้ากับปัญหาการเหยียดเพศที่สามในสังคม คือเรามองว่าการไม่กล้าสารภาพรักของตัวละคร มันต้องโทษตัวละครตัวนั้นเองน่ะ มันไปโทษสังคมมันไม่ถูกหรอก คือเรามองว่าสังคมมันมีปัญหาในการเหยียดเพศจริงๆ, สถาบันศาสนามีปัญหาจริงๆ, สถาบันครอบครัวมีปัญหาจริงๆ แต่มันไม่ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างในชีวิตกะเทยคนนึงเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ เพราะหลายๆปัญหามันก็เกิดจากตัวกะเทยคนนั้นเอง ไม่ได้เกิดจากสังคมซะทีเดียว คือเราก็เห็นเพื่อนตุ๊ดบางคนได้กินผู้ชายเป็นประจำ และเพื่อนตุ๊ดบางคนก็มีผัวที่อยู่ด้วยกันมาเกือบยี่สิบปี เพราะฉะนั้นการที่ตัวละครในเรื่องนี้ไม่โทษตัวเองในเรื่องชีวิตรัก แต่ดันไปโทษสังคม มันก็เลยทำให้เรารู้สึกประหลาดๆ

แต่เราก็ไม่ได้มองว่า “ละครเวที” เรื่องนี้มีทัศนคติผิดพลาดนะ เรามองแค่ว่า “ตัวละคร” ตัวนี้มีทัศนคติหลายอย่างที่เราเห็นด้วยและมีทัศนคติหลายอย่างที่เราไม่เห็นด้วย และบางทีละครเวทีเรื่องนี้อาจจะต้องการกระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกขัดแย้งกับตัวละครตัวนี้ก็ได้ แทนที่จะต้องการให้ผู้ชมคล้อยตามสิ่งที่ตัวละครตัวนี้พูดไปซะทุกอย่าง

เรามองว่าการวิจารณ์สถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัวในละครเรื่องนี้ มีลักษณะของการ “เหมารวม” มากเกินไปด้วย คือตัวละครตัวนี้เหมือนกับจะมองว่า ความเชื่อเรื่องสถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัว เป็นความเชื่อที่แย่ ซึ่งมันจะแตกต่างจากเรานิดนึง คือเรามองว่า เราเกลียดสถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัว แต่สถาบันเหล่านี้มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกับคนอื่นๆก็ได้ เพียงแต่มันไม่ดีกับเราเท่านั้นเอง

แต่การที่เรารู้สึกขัดแย้งกับหลายๆสิ่งที่ตัวละครพูด จริงๆแล้วมันอาจจะเป็นข้อดีของละครเวทีเรื่องนี้ก็ได้นะ เพราะมันกระตุ้นให้เราคิด  :-)

3.ในส่วนที่เป็นชีวิตส่วนตัวของตัวละครนั้น เราชอบมาก ถึงแม้อาจจะไม่ชอบมากสุดๆ เราว่าชีวิตของตัวละครตัวนี้ ค่อนข้างราบเรียบมากเมื่อเทียบกับชีวิตเพื่อนเกย์,ตุ๊ดหลายคนที่เรารู้จัก แต่ถึงแม้ชีวิตของตัวละครตัวนี้จะค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีอะไรโลดโผนมากนัก ละครเวทีเรื่องนี้ก็ตรึงความสนใจของเราไว้ได้ตลอด เพราะบทพูดและการแสดงที่มีเสน่ห์

แต่ในอีกแง่นึง เราก็ไม่ได้ชอบเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของตัวละครตัวนี้อย่างสุดๆนะ แต่ไม่ใช่เพราะมันราบเรียบ แต่เป็นเพราะว่ามันถูกตัดขาดจากแง่มุมอื่นๆของชีวิตน่ะ คือละครเวทีเรื่องนี้เน้นนำเสนอปัญหาการเหยียดเพศที่สามในครอบครัว, โรงเรียน, สังคม แต่ชีวิตมนุษย์เราไม่ได้มีแค่แง่มุมนั้นแง่มุมเดียว มันมีแง่มุมอื่นๆด้วย และพอแง่มุมอื่นๆของชีวิตถูกตัดขาดออกไป ละครเวทีเรื่องนี้ก็เลยดูเหมือนไม่เข้าทางเราซะทีเดียว แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของละครเรื่องนี้นะ มันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวของตัวเราเองน่ะ

ถ้าหากวัดจากรสนิยมส่วนตัวของเรา เราว่าละครเวทีเรื่องนี้จะเข้าทางเรามากๆ ถ้าหากมันนำเสนอชีวิตของคนธรรมดาคนนึงที่ความเป็นกะเทยเป็นแง่มุมสำคัญในชีวิตของเขา แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตของเขา คือละครเวทีเรื่องนี้เหมือนกับจะนำเสนอว่าชีวิตกะเทยไม่มีความสุขเพราะสังคมเป็นสาเหตุ ซึ่งมันก็จริง แต่ความสุขความทุกข์ต่างๆในชีวิตมันมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การตัดแง่มุมอื่นๆของชีวิต และการตัดสาเหตุของความทุกข์อื่นๆในชีวิตออกไป มันเลยทำให้ละครเรื่องนี้ไม่ได้เข้าทางเราซะทีเดียว

4.ชอบช่วงที่เล่าเรื่องการแอบชอบนายแบบโฆษณามากๆ เราลุ้นมากๆในเนื้อหาส่วนนี้


5.ชอบการใช้เพลง “เพียงแค่ใจเรารักกัน” ของวิยะดา โกมารกุล ณ นครด้วย เพราะตอนเด็กๆ เพลงนี้ก็สร้าง “ideal life” ขึ้นมาในหัวของเราเหมือนกัน คือตอนเด็กๆ เวลาเราฟังเพลงนี้ เราก็จะจินตนาการว่า โตขึ้นเราอยากมีสามี และอยากมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข รอสามีกลับมาบ้าน ทำตัวเป็นแม่บ้านที่ดี อะไรทำนองนี้ 555

No comments: