Wednesday, April 15, 2015

BORGMAN (2013, Alex van Warmerdam, Netherlands, A+25)

BORGMAN (2013, Alex van Warmerdam, Netherlands, A+25)

ดูมาหลายวันแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสจดบันทึกความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
ก่อนหน้านี้เคยดูหนังของผู้กำกับคนนี้อีก 3 เรื่อง ซึ่งก็คือ WAITER (2006), GRIMM (2003) กับ THE DRESS (1996) เราว่า BORGMAN ทำให้เรานึกถึง THE DRESS ในแง่ที่ว่า โลกในหนังเรื่องนี้มันเหมือนเป็นโลกที่มีตรรกะอะไรบางอย่างผิดเพี้ยนไปจากโลกแห่งความเป็นจริงน่ะ คือโลกในหนังสองเรื่องนี้มันไม่ใช่โลก realist แต่เป็นโลกที่เกือบๆจะ magical realist หรือมีอะไรบางอย่างผิดปกติไปจากความเป็นจริง เราว่าผู้กำกับคนนี้สร้างโลกสมมุติแบบนี้ขึ้นมาได้เก่งมากๆ เพราะมันไม่ใช่ทั้งโลก realist และก็ไม่ใช่โลกแฟนตาซีแบบหนัง Tim Burton ด้วย มันเป็นโลกกึ่งๆ และไอ้การทำโลกกึ่งๆให้ออกมา consistent ตลอดทั้งเรื่อง มันเป็นสิ่งที่ยากมากพอสมควร

ที่เราว่าโลกในหนัง BORGMAN ไม่ใช่โลก realist เพราะมันมีฉากอย่างน้อย 2 ฉากที่ทำให้เราคิดแบบนั้นน่ะ ซึ่งก็คือฉากที่ลูกสาวนางเอกฆ่าคนสมัครงานตาย โดยไม่มีสาเหตุ ไม่มีแรงจูงใจอะไรเลย และฉากที่พี่เลี้ยงเจอกับชายหนุ่มอาชญากร แล้วหนังก็ตัดไป แล้วอยู่ดีๆเราก็พบว่าพี่เลี้ยงหันมาเข้าข้างฝ่ายอาชญากรโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน

คือถ้าหากเป็นหนังที่เนื้อเรื่องดำเนินอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือถ้าจะเกิดขึ้นได้ มันต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่า BORGMAN ไม่ได้ดำเนินเรื่องอยู่ในโลกแบบ realist แต่อยู่ในโลกที่ surreal หน่อยๆ และเหตุการณ์บางอย่างในหนังทำท่าว่าจะเป็น “สัญลักษณ์” ที่ต้องตีความ มากกว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี อีกสิ่งหนึ่งที่เราว่า BORGMAN กับ THE DRESS คล้ายกัน ก็คือว่า ในขณะที่หนังสองเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในโลก realist แต่ทำท่าว่าจะอยู่ในโลก “สัญลักษณ์” เรากลับไม่สามารถตีความสัญลักษณ์ในหนังได้โดยง่าย เราบอกไม่ได้ว่า “ชุดอาถรรพ์” ใน THE DRESS เป็นสัญลักษณ์ของอะไร และเราไม่สามารถบอกได้ว่าตัว Borgman กับสมุนเป็นสัญลักษณ์ของอะไรกันแน่ เราว่าอันนี้เป็นจุดนึงที่เด่นมากและดีมากของหนังสองเรื่องนี้ เราว่ามันช่วยกระตุ้นความคิดของผู้ชมได้ดี และคำตอบก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ

ตอนดูช่วงแรกๆเราจะนึกว่า Borgman เป็นสัญลักษณ์แทนพวกอาชญากรรัสเซียหรือยุโรปตะวันออกนะ เพราะ Borgman กับสมุนเป็นเหมือนกับพวกผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่น่าสงสารที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วน่ะ และจะเห็นได้ชัดจากฉากที่ Borgman ส่ง “คนดำ” หรือ “คนชาติพันธุ์อื่นๆที่ไม่ใช่คนขาว” เข้าไปสมัครงานก่อนหน้าตัวเองน่ะ มันเหมือนเป็นการเปรียบเทียบ hierachy ของผู้อพยพชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกอาจจะดูน่าไว้ใจที่สุดถ้าหากเทียบกับคนดำหรือคนแขก แต่จริงๆแล้วผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกอาจจะเกี่ยวข้องกับแก๊งมาเฟียมากที่สุด

อย่างไรก็ดี แนวคิดข้างต้นก็ตกไป เพราะเนื้อหาส่วนอื่นๆใน Borgman บ่งชี้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แทนปัญหาผู้อพยพ/อาชญากรเท่านั้น ทั้งอิทธิฤทธิ์ของ Borgman ในการควบคุมความฝัน และในการจูงใจนางเอก, พี่เลี้ยง และลูกๆของนางเอกให้มาอยู่ฝ่ายเดียวกับตนเอง สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่าการพยายามจะตีความ Borgman ให้เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งใดแบบตายตัวไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่เราก็ไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 นะ เพราะใจจริงแล้วเราอยากให้มีตัวละครลุกขึ้นสู้กับ Borgman อย่างรุนแรงน่ะ แต่พอไม่มีตัวละครตัวไหนทำแบบนั้นได้ มันก็เลยเหมือนกับว่าความอยากของเราไม่ได้รับการระบายออก

ดูหนังของผู้กำกับคนนี้แล้วนึกถึงงานศิลปะของ Peggy Wauters ศิลปินหญิงชาวเบลเยียม เพราะงานศิลปะของคนนี้จะมีอะไรบางอย่างวิปริตอยู่ในนั้นด้วย คือมันเหมือนกับว่าโลกในหนังของ Alex van Warmerdam กับโลกในงานศิลปะของ Peggy Wauters อยู่ภายใต้การควบคุมของปีศาจน่ะ มันไม่ได้อยู่ในโลกที่พระเจ้าหรือแสงสว่างมีอำนาจสูงสุด แต่เป็นโลกที่ปีศาจมีอำนาจเท่าๆกับพระเจ้า พลังของความวิปริตบางอย่างถึงปรากฏชัดออกมาในหนังของ van Warmerdam และในงานศิลปะของ Wauters



No comments: