Tuesday, April 28, 2015

STOCKHOME STORIES (2013, Karin Fahlén, Sweden, A+15)

STOCKHOME STORIES (2013, Karin Fahlén, Sweden, A+15)

1.หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนหลายคนในกรุงสต็อคโฮล์มที่เหมือนกับจะเป็นโรคประสาทอ่อนๆในแบบของตัวเอง ตัวละครนำของเรื่องมีหลายตัว ซึ่งรวมถึงโยฮัน (Martin Wallström) กวีหนุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาเป็นลูกชายของนักเขียนชื่อดัง แต่ดูเหมือนว่าทางสำนักพิมพ์จะสนใจใช้ประโยชน์จากเขาในฐานะลูกชายของนักเขียนชื่อดัง มากกว่าจะสนใจเขาในฐานะกวีที่มีความสามารถจริงๆ เขาเอาบทกวีของเขาไปแจกจ่ายให้บาร์เทนเดอร์และคนจรจัด และมีเรื่องตบตีกับทั้งเจ้าของสำนักพิมพ์, คนที่ต้องการเขียนหนังสือชีวประวัติพ่อของเขา และนักเขียนชื่อดังคนหนึ่ง นอกจากนี้ เพื่อนบ้านของเขายังระแวงว่าเขาอาจจะเป็นฆาตกรโรคจิตด้วย ทางด้านแอนนา  (Julia Ragnarsson) น้องสาวของเขา ก็กลายเป็นคนไร้บ้าน เธอถูกแฟนสาวเลสเบียนทิ้ง เธอก็เลยพยายามแบล็คเมล์แฟนสาวเลสเบียนคนนี้ซึ่งมีสามีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน ดักลาส (Filip Berg) ซึ่งเป็นเพื่อนของแอนนา ก็ดูเหมือนจะตกหลุมรักแอนนา แต่เขาเป็นโรคติดอ่าง และพ่อของเขาก็ควบคุมชีวิตเขาในแบบที่เป็นเผด็จการอย่างมาก นอกจากนี้ หนังยังมีตัวละครนำอีกสองตัว ซึ่งได้แก่โธมัส (Jonas Karlsson) กับเจสสิกา (Cecilia Frode) ซึ่งเป็นคนที่บ้างานและเย็นชาเหมือนกัน แต่โชคชะตาก็พาให้คนทั้งสองได้มารู้จักกัน

2. โครงสร้างของมันอาจจะทำให้นึกถึงหนังหลายๆเรื่องที่เล่าผ่านตัวละครหลายๆตัว อย่างเช่น CRASH (2004, Paul Haggis), THE CRISIS (1992, Coline Serreau) และ MAGNOLIA (1999, Paul Thomas Anderson) หรือนึกถึงนิยายบางเรื่องของม.มธุการี แต่ STOCKHOLM STORIES ก็มีความแตกต่างจากหนังเหล่านี้และสร้างความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้ เราชอบ STOCKHOLM STORIES ในแง่ที่ว่า มันไม่ได้พยายามจะเน้นประเด็นสังคมการเมืองแบบ CRASH แต่เน้นไปที่ความเป็นมนุษย์ของตัวละครแต่ละตัวมากกว่า หนังมันก็เลยเข้าทางเรามากกว่า เพราะเราชอบหนังที่ตัวละครเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยปัญหาและข้อบกพร่องแบบนี้ และเราก็ชอบที่ตัวละครใน STOCKHOLM STORIES มันไม่ได้อยู่ในภาวะใกล้จุดเดือดแบบ THE CRISIS ด้วย คือตัวละครหลายตัวใน THE CRISIS มันเหมือนหม้อน้ำที่อุณหภูมิอยู่ที่ 80-95 องศาเซลเซียสแล้วน่ะ มันก็เลยอยู่ในภาวะใกล้ระเบิดกันเกือบหมด แต่ตัวละครใน STOCKHOLM STORIES มันเหมือนมีอุณหภูมิทางอารมณ์อยู่ที่ 50-75 องศาเซลเซียสน่ะ ตัวละครมันเต็มไปด้วยความกลัดกลุ้มหม่นหมองใจ แต่มันยังไม่ได้ไปถึงจุดระเบิด และเราว่าตัวละครแบบนี้มันใกล้เคียงกับ “ชีวิตประจำวัน”  ของเรามากกว่าน่ะ ชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความทุกข์เหี้ยห่าสารพัดสารเพ แต่ก็ยังไม่รุนแรงถึงขั้นจะระเบิดออกมา คือจริงๆแล้วเราก็ชอบ THE CRISIS มากนะ แต่เราว่าหนังสองเรื่องนี้มันดีกันไปคนละแบบน่ะ เราว่าอารมณ์แบบ THE CRISIS มันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน (อารมณ์แบบอยากลุกขึ้นมาตบอีเหี้ยอีห่าที่มาทำร้ายชีวิตกู) ส่วนอารมณ์แบบใน STOCKHOLM STORIES มันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน (อารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่าน เคียดขึ้งหม่นหมองใจ)

แต่น่าเสียดายที่ตอนจบของ STOCKHOLM STORIES มันแย่สุดๆในความเห็นของเรา ไม่งั้นหนังเรื่องนี้คงได้เกรดสูงกว่านี้มาก เราว่าหนังเรื่องนี้มันสามารถกลายเป็นหนังที่เน้นนำเสนอ “ความบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์และชีวิตมนุษย์” ได้ดีเรื่องนึงเลยนะ ถ้ามันไม่ตกม้าตายในตอนจบ

แต่ถ้าเทียบกับหนังหลากตัวละครอย่าง MAGNOLIA และ 71 FRAGMENTS OF A CHRONOLOGY OF CHANCE (1994, Michael Haneke) แล้ว STOCKHOLM STORIES ก็เทียบไม่ติดเลยนะ เพราะมันขาดความมหัศจรรย์แบบในหนังสองเรื่องนี้

3.ตัวละครที่เราชอบที่สุดในเรื่องนี้คือเจสสิกา เพราะเธอเหมือนนางอิจฉาหรือนางตัวร้ายมากๆ เธอเป็นผู้หญิงเย็นชา ไร้น้ำใจ และสามารถส่งเข้าไปตบกับตัวละครหญิงตัวอื่นๆในละครทีวีเรื่อง MELROSE PLACE (1992-1999) ได้สบายมากๆ นอกจากนี้ เธอยังเป็นคนที่มีความอาฆาตเคียดแค้นสูงมาก แต่เธอไม่ได้อาฆาตคนโดยไม่มีสาเหตุ เธออาฆาตคนที่มาโกงเธอจริงๆ เธอก็เลยตามไปรังควานคนที่มาโกงเธออย่างรุนแรงให้ถึงที่สุด

สิ่งที่ทำให้เราชอบ STOCKHOLM STORIES มากๆก็คือว่า ไปๆมาๆแล้ว หนังเรื่องนี้กลับ treat เจสสิกาในแบบนางเอกในช่วงท้ายของเรื่องน่ะ คือถ้าเป็นหนังทั่วๆไป เจสสิกามันต้องเป็นนางอิจฉาที่ได้รับบทลงโทษอย่างรุนแรงหรืออะไรทำนองนี้ แต่หนังเรื่องนี้กลับปฏิบัติต่อเจสสิกาในแบบนางเอกของเรื่องในช่วงท้าย เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันมนุษยนิยมมากๆ มันยอมรับความบกพร่องและความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ได้ดีมากๆ เราก็เลยประทับใจหนังตรงจุดนี้อย่างสุดๆ

ตัวละครตัวอื่นๆในเรื่องก็มีข้อบกพร่องมากมายเหมือนกันนะ ทั้งโยฮัน, โธมัส, แอนนา และดักลาส โดยเฉพาะโยฮันที่ดูเหมือนจะเป็นพระเอกของเรื่อง จริงๆแล้วก็เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมายเช่นกัน

spoilers alert
--
--
--
--
--

4.แต่เราให้ F กับตอนจบของหนังเรื่องนี้นะ เพราะในตอนจบของหนังเรื่องนี้ โยฮันได้บุกเข้าไปในโรงไฟฟ้า และปิดไฟฟ้าในกรุงสต็อคโฮล์มไปเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที เพราะเขาเชื่อว่า การกระทำของเขาจะส่งผลดีต่อมนุษยชาติ และจะทำให้เพื่อนมนุษย์หันมาสื่อสารกันเองมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้นขณะไม่มีไฟฟ้าใช้ หรืออะไรทำนองนี้

ในฉากจบของหนังเรื่องนี้ โยฮันมอบตัวกับตำรวจ เราเห็นเขามองออกมาจากหน้าต่างรถตำรวจ เขาเห็นผู้คนมากมายในกรุงสต็อคโฮล์มมีความสุข เด็กๆเริงร่าเล่นด้วยกัน ชายหนุ่มหญิงสาวกอดจูบกัน, etc.

คือเรารับตอนจบของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อย่างรุนแรงน่ะ เพราะเราว่าหนังมัน glorify หรือเห็นด้วยกับการกระทำของโยฮันในตอนจบ ซึ่งเราว่ามันเป็นแนวคิดที่ผิดพลาดมากๆ เพราะสิ่งที่โยฮันทำมันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่หลายคนในเมืองไทยทำ นั่นก็คือ “ความกระสันต์อยากจะทำความดีเพื่อมนุษยชาติ และเพื่อความอิ่มเอมสุขใจของตัวเอง โดยที่มึงไม่เคยคิดจะถามคนอื่นๆเลยว่า การทำดีของมึงน่ะไปสร้างความเดือดร้อนชิบหายวายป่วงหรือทุกข์ทรมานให้คนอื่นๆมากน้อยแค่ไหน” ซึ่งเราว่าไอ้การทำความดีแบบคิดเองเออเองแล้วไปทำให้คนอื่นๆเดือดร้อนแบบนี้ มันไม่ต่างอะไรจากการกระทำของสัตว์นรกตัวนึงน่ะ คือคนที่ทำดีแบบนี้มันคงคิดว่าตัวเองเป็นเทวดา อู้ย กูได้ทำความดีเพื่อมนุษยชาติ อู้ย กูสุขใจ แต่ในความเห็นของเรา มึงเป็นสัตว์นรกตัวนึงค่ะ

คือเราจะไม่ว่าโยฮันเลยสักคำ ถ้าเขารณรงค์ให้คนดับไฟ, เลิกใช้มือถือหรืออะไรทำนองนี้ คือเรื่องแบบนี้มันต้องอาศัยความสมัครใจน่ะ ไม่ใช่ไปบังคับตัดไฟเขา แล้วบอกว่าตัวเองทำความดี

คือเราลองคิดเล่นๆว่า ถ้าหากเราเป็นนักศึกษาที่นั่งพิมพ์รายงานมา 5 ชั่วโมง เพื่อส่งรายงานให้ทันกำหนดเส้นตายวันพรุ่งนี้ แล้วอยู่ดีๆไฟดับ งานที่พิมพ์มาหายหมด พรุ่งนี้กูติด F แล้วไอ้โยฮันมันจะมารับผิดชอบชีวิตกูมั้ย หรือถ้ากูเป็นผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูก นั่งรถพยาบาลอยู่ แล้วไฟจราจร ไฟถนนดับวูบหมด รถพยาบาลกูชนกับรถคันอื่นๆ กูกับลูกตายทั้งกลมอยู่ในรถพยาบาล แล้วไอ้โยฮันมันจะคืนชีวิตให้กูได้มั้ย

ในช่วงต้นเรื่อง โยฮันก็ทำอะไรคล้ายๆกันนี้นะ คือเขาเห็นคนจรจัดคนนึงนอนหลับอยู่ข้างถนน เขาก็เลยเอามือไปถอดหลอดไฟตรงนั้นออก หนังไม่ได้บอกว่าเขาทำอย่างนั้นไปเพราะอะไร เขาอาจจะหวังดีอยากให้คนจรจัดคนนั้นนอนหลับสนิทท่ามกลางความมืดก็ได้ แต่เรากลับไม่ได้มองอย่างนั้น เพราะเรามองว่าคุณจะทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก คุณต้องถามคนจรจัดคนนั้นก่อน ถ้าหากเขาต้องการความมืดจริงๆ ทำไมเขาไม่ถอดหลอดไฟออกเองล่ะ หรือทำไมเขาไม่ไปหาที่ตรงอื่นๆที่มันมืดกว่าเพื่อนอนล่ะ เขาอาจจะนอนตรงที่มีไฟสว่าง เพราะมันปลอดภัยกว่าก็ได้ หรือเพื่อคนอื่นๆจะได้ไม่มาเดินสะดุดเขา หรือเตะเขาโดยไม่ได้ตั้งใจขณะที่เขานอนหลับอยู่ก็ได้

เรามองว่าการกระทำของโยฮันมันเลวร้ายมากๆเลยน่ะ เขาเป็นคนที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ก็จริง แต่ถ้าหากเขาปรารถนาดีจริง เขาก็ต้องถามเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆก่อนว่า “คุณต้องการอะไร” ไม่ใช่อยู่ดีๆก็ยัดเยียดความต้องการของเขาเองไปให้กับคนอื่นๆ หรือยัดเยียด “สิ่งที่เขาคิดว่าดี” ไปให้กับคนอื่นๆ โดยที่ไม่ยอมรับรู้ว่า “สิ่งที่เขาคิดว่าดี” นั้น มันอาจจะสร้างความลำบากเดือดร้อนให้คนอื่นๆก็ได้

สรุปว่า การที่หนัง glorify “การทำดี” ของโยฮันในตอนจบ ทำให้เราอยากให้เกรด F กับหนังเรื่องนี้ค่ะ เพราะ “การทำดีของมึงโดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจของคนอื่นๆที่จะได้รับผลกระทบจากการทำดีของมึงนั้น” มันทำให้มึงเป็นสัตว์นรกตัวนึงค่ะ จบ




No comments: