Monday, September 07, 2015

FREELANCE (2015, Nawapol Thamrongrattanarit, A+30)

FREELANCE (2015, Nawapol Thamrongrattanarit, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ชอบหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “การทำงาน” 555 ทั้งหนังเรื่องนี้และหนังเรื่องอื่นๆ หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะรสนิยมส่วนตัวของเราเองด้วยแหละที่มักจะชอบหนังที่ถ่ายทอด “กิจวัตรประจำวัน” อยู่แล้ว และ “การทำงาน” ก็เหมือนเป็น subset หนึ่งของกิจวัตรประจำวัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราชอบหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน เราก็เลยพลอยชอบหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “การทำงาน” ไปด้วย

2.พอดูแล้วก็จะเปรียบเทียบความเหมือนความต่างของตัวเองกับยุ่น คือเราจะต่างกับยุ่นมากๆ เพราะเราขี้เกียจทำงาน 555 เราไม่มีความบ้างานเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เราก็เหมือนกับยุ่นในบางจุด นั่นก็คือ “เรากลัวอดตายมากๆ” เพราะเราจน และเราหวังพึ่งครอบครัวไม่ได้ เราต้องหาเลี้ยงตัวเองให้ได้ ไม่งั้นก็อดตาย และเราก็รู้สึกเหมือนกับว่ายุ่นถูกผลักดันด้วยความกลัวอดตายเหมือนๆกับเรา มันเหมือนกับว่าชีวิตของคนที่ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้แบบนี้มันคล้ายกับหนูถีบจักรที่ต้องถีบไปเรื่อยๆ เพราะกลัวว่าถ้าตัวเองหยุดหรือชะลอความเร็วมากเกินไป ทุกอย่างจะล่มสลาย และเราอาจจะตกงาน หางานทำไม่ได้สักที และอดตายในที่สุดน่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือต้องถีบจักรมันไปเรื่อยๆโดยไม่หยุดนี่แหละ

ซึ่งจริงๆแล้วหนังที่เน้นย้ำเรื่องความรู้สึก insecure ทางหน้าที่การงานแบบนี้ อาจจะหาไม่ค่อยได้ในหนังไทยกระแสหลักนะ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะความรู้สึก insecure แบบนี้เป็นอะไรที่เราอินสุดๆ

3.ชอบการที่หนัง “ซ่อน” หมออิมและหน้าหมออิมเอาไว้ในหลายๆ moment และทำให้เรารู้สึกอยากเห็นหน้าหมออิมในฉากนั้นๆมากๆ คือ moment ที่เราจำได้ชัดๆก็มีอย่างน้อย 2 moment คือ

3.1 ฉากที่หมออิมโดนคนไข้ด่า แล้วยุ่นเข้าไปในห้อง และดูเหมือนหนังจะไม่ยอมให้เราเห็นหน้าหมออิมในช่วงแรกๆของฉากนั้น จนกระทั่งยุ่นถามทำนองที่ว่า หมอเป็นอะไรหรือเปล่า เราถึงค่อยเห็นหน้าหมอในฉากนั้น

เราชอบ moment แบบนี้มากๆ คือมันกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราอย่างมากๆน่ะ เพราะใน moment นั้นเราอยากเห็นหน้าหมออิมมากๆว่า หมอร้องไห้หรือเปล่า หรือหมอทำหน้ายังไงหลังจากโดนคนไข้ด่าอย่างรุนแรงอย่างนั้น ซึ่งยุ่นเห็นหน้าหมออิมในฉากนั้น แต่คนดูไม่เห็นในช่วงแรกๆของฉากนั้นน่ะ

3.2 อีก moment นึงที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเราอย่างมากๆ คือช่วงท้ายๆที่ยุ่นไปโรงบาล แล้วมีฉากนึงที่ยุ่นเข้าไปในห้องตรวจ แล้วกล้องไม่ยอมให้เราเห็นว่า เป็นหมออิมที่อยู่ในห้องตรวจหรือเป็นหมอคนอื่น คือ moment นั้นเราก็ลุ้นมากๆว่า ยุ่นจะได้เจอหมออิมหรือเปล่า หรือจะได้เจอหมอคนอื่น

เราชอบกลวิธีการซ่อนตัวหมอหรือการซ่อนใบหน้าหมอแบบนี้มากๆน่ะ คือเราว่าหนังมันเก่งในการเลือก “สิ่งที่เปิดให้คนดูเห็น” กับ “สิ่งที่ปิดไม่ให้คนดูเห็น” ในแต่ละ moment น่ะ และมันไม่ต้องอาศัย “เหตุการณ์รุนแรง” ในการทำให้เราลุ้น มันแค่อาศัย “การวางกล้อง” ในจุดที่เหมาะสม เพื่อเปิดให้คนดูเห็นบางส่วน และปิดไม่ให้คนดูเห็นบางส่วนในฉากนั้น และเพียงแค่อาศัยการวางกล้องแค่นั้นก็ทำให้เราลุ้นมากๆหรืออยากรู้อยากเห็นมากๆในสองฉากนี้ได้แล้ว

เรื่องการเลือก “เปิดบางส่วน” และ “ปิดบางส่วน” นี่ไม่ได้แค่ใช้ในการทำให้เราลุ้นหรืออยากรู้อยากเห็นเท่านั้นนะ มันยังใช้ในการสร้างอารมณ์ขันด้วย ซึ่งก็คือวิธีการที่หนังนำเสนอตัวละครสุชาติน่ะ เพราะตัวละครสุชาติก็ปรากฏตัวอยู่ในหลายๆฉาก แต่กล้องก็ปิดไม่ให้เราเห็นเขาในช่วงต้นฉาก แต่เปิดให้เราเห็นเขาในช่วงท้ายฉาก เพื่อสร้างอารมณ์ขัน

4.ชอบอารมณ์ลังเล หรือค้างชะงักนิดนึง ก่อนที่ยุ่นจะเขียนอวยพรหรือให้กำลังใจเจิด มันเหมือนกับว่ายุ่นมองเจิดเป็นคู่แข่งมาโดยตลอด แต่การที่เขาตัดสินใจเขียนให้กำลังใจเจิด มันเหมือนเป็นการที่เขาสามารถก้าวข้ามอะไรบางอย่างในใจเขาเองได้แล้ว

5.จริงๆอยากให้หนังจบโดยที่ยุ่นตายไปเลย เพราะเราว่าฉากงานศพมันพีคมากๆ แต่ฉากหลังงานศพ อารมณ์มันใช้ได้ แต่มันไม่ใช่อารมณ์ที่พุ่งปรี๊ดแบบฉากงานศพน่ะ พอเราดูตอนจบของหนังเรื่องนี้ เราก็เลยไม่แน่ใจว่า มันเป็นการประนีประนอมกับค่ายหนังหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นความต้องการของผู้กำกับจริงๆที่ให้จบแบบนั้น

6.สิ่งที่ยุ่นทำกับหมออิม มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เราทำกับผู้ชายหลายๆคนที่เราชอบน่ะ นั่นก็คือ “ดีใจที่ได้เห็นหน้า” แต่ “ไม่แน่ใจว่าควรจะสร้างความผูกพันด้วยจริงๆหรือเปล่า” คือแค่ได้ไปอุดหนุนเขาในร้านนั้นเป็นครั้งคราว แค่ได้เห็นหน้าเขาในร้านนั้น ก็เหมือนมีน้ำทิพย์มาชะโลมใจประมาณ 1 นาทีแล้วล่ะ แต่เราไม่ได้ต้องการอะไรจากเขามากไปกว่านั้น ไม่ต้องการจีบอย่างจริงๆจังๆ และรู้สึก safe กับการรักษาสถานะ “ลูกค้า” กับ “พนักงานในร้าน” ต่อไป

คือเราชอบที่ยุ่นในหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นตัวละครผู้ชายแบบว่า “โอ้ เจอหมอสวย รักแรกพบ ตกหลุมรักอย่างรุนแรง จะเอาให้ได้ นี่แหละพลังแห่งรัก” อะไรทำนองนี้ แต่เป็นตัวละครที่รู้สึกก้ำกึ่งกับผู้หญิงที่ตัวเองชอบ ว่า เอ๊ะ นี่เรารักหมอหรือเปล่า หรือถึงเรารักหมอจริง แต่เราก็กลัวเกินกว่าที่จะสารภาพรักโดยตรงอะไรทำนองนี้ และปล่อยให้ทุกอย่างดูคาราคาซัง ก้ำๆกึ่งๆต่อไป เราว่ามันจริงดี

7.อีกจุดที่คนอาจจะพูดถึงไปแล้ว แต่เป็นจุดที่เราชอบมากๆ ก็คือการที่พระเอกของหนังไม่ใช่คนมีลูกมีเมียน่ะ คือตอนเด็กๆเรามักจะฝังหัวกับคติทำนองที่ว่า “อย่าทำงานมากเกินไป จนไม่มีเวลาให้ลูกให้เมีย” ซึ่งตัวอย่างของคติแบบนี้อาจจะเห็นได้ในหนังหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะหนังที่มักออกฉายในช่วงเทศกาลคริสต์มาส หรือในเพลงอย่าง SUCCESS HAS MADE A FAILURE OF OUR HOME ของ Sinead O’Connor ซึ่งคติแบบนี้จริงๆแล้วมันก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่มันก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คติแบบนี้จะมีประโยชน์อะไรกับคนโสดๆ เหงาๆ อย่างเราและหลายๆคน

เราก็เลยรู้สึกว่า FREELANCE มันสะท้อนชีวิตคนหลายๆคนในยุคปัจจุบันได้ดีน่ะ คือชีวิตของคนหลายๆคนในยุคนี้ มันไม่ใช่ชีวิตประเภทที่ “เพราะคุณมัวแต่ทำงานหาเงินจนร่ำรวย ชีวิตครอบครัวของคุณก็เลยล่มสลาย” แบบในหนังยุคเก่าหรือเพลงยุคเก่าอีกแล้ว แต่มันเป็นชีวิตของคนที่ “ทำงานหาเงินเท่าไหร่ ก็ไม่รวยสักที และไม่มีครอบครัวให้ยึดเหนี่ยว” ด้วย มันไม่ใช่ชีวิตของคนที่ “ลดการหาเงินสักหน่อย เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น” เพราะคนประเภทนั้นมันยังมี “ครอบครัว” เป็นเสาหลักให้ยึดโยงน่ะ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวในแบบของ “ลูกเมีย” หรือ “พ่อแม่พี่น้อง” ก็ตาม

คือจริงๆแล้วมันก็นึกถึงหนังสั้นไทยบางเรื่องนะ ที่ตัวละครลางาน เพื่อกลับไปเยี่ยมพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายในชนบทน่ะ ซึ่งหนังกลุ่มนี้มีเยอะ และมีหนังดีๆหลายๆเรื่องในกลุ่มนี้ด้วย เพราะหนังกลุ่มนี้หลายๆเรื่องมันมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับ

แต่เวลาเราดูหนังกลุ่มนี้ เราจะแค่ติดนิดเดียวตรงที่ว่า เราไม่ได้มีความผูกพันทางใจกับครอบครัวอย่างรุนแรงแบบตัวละครในหนังกลุ่มนี้น่ะ คือในขณะที่หนังฝรั่งหลายๆเรื่อง ตัวละครมี “ลูกเมีย” เป็นหลักยึด และหนังสั้นไทยหลายๆเรื่อง ตัวละครมี “พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายาย ที่มักจะอาศัยอยู่ในชนบท” เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางใจ แต่เรากลับไม่มีหลักยึดแบบตัวละครในหนังสองกลุ่มนี้น่ะ คือเราก็รักคนในครอบครัวเรานะ แต่เราไม่ได้ผูกพันทางใจอย่างรุนแรงมากๆแบบที่มักจะปรากฏในหนังกลุ่มนี้

จุดนี้ก็เลยเป็นจุดที่เราชอบมากๆจุดนึงใน FREELANCE เพราะยุ่นก็ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวทางใจเหมือนกัน ไม่มีทั้ง “ลูกเมีย” แบบในหนังสั่งสอนศีลธรรมของฝรั่ง และไม่มีความผูกพันอย่างรุนแรงกับแม่หรือญาติโกโหติกาในชนบทแบบในหนังสั้นหลายๆเรื่องของไทย การที่ยุ่นดูเคว้งคว้างทางใจแบบนี้ และขาดครอบครัวในฐานะหลักยึดเหนี่ยวทางใจแบบนี้ ก็เลยทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ



No comments: