Saturday, November 14, 2015

MY MERMAID DREAM (2015, Pathavee Thepkraiwan, stage play, A+5)

MY MERMAID DREAM (2015, Pathavee Thepkraiwan, stage play, A+5)

1.สิ่งที่ชอบที่สุดก็คงจะเป็น “การแสดง” ของคุณปัถวีในละครเวทีเรื่องนี้น่ะ คือเราว่าคุณปัถวีเป็นนักแสดงที่เก่งมาก และอีกสิ่งที่ชอบมากก็คือ “พลังใจ” ในการแสดงด้วย เพราะรอบที่เราไปดูมีคนดูแค่ 4 คนเอง แต่คุณปัถวีก็แสดงอย่างเต็มที่มากๆดูแล้วก็นับถือความเป็น “นักแสดง” ของคุณปัถวีมากๆ

2.อีกสิ่งที่ชอบมากก็คือความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาหลังจากดูจบ เราชอบที่ตัวละครพยายามทำร่าเริงในหลายๆช่วงของเรื่อง แต่พอดูจบแล้ว เรากลับรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงามาก เราชอบที่ภายใต้ความร่าเริง แร่ดไปแร่ดมา จริงๆแล้วมันปิดซ่อนความเหงาและว้าเหว่อย่างรุนแรงไว้ภายใน

3. ช่วงที่ชอบที่สุดในเรื่องนี้ คือช่วงที่มันเอา THE LITTLE MERMAID กับ TITANIC มาผสมกัน เพราะเรามักจะชอบหนัง+ละครเวทีที่เอาเรื่องต่างๆมาผสมกันอย่างคาดไม่ถึงน่ะ เราก็เลยชอบช่วงนี้มากที่สุดใน MY MERMAID DREAM

4.ดูแล้วนึกถึงสิ่งที่เพื่อน cinephile คนนึงเคยพูดเอาไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนมากๆ คือตอนนั้นเรากับเพื่อนคนนี้ดูมิวสิควิดีโอ NO ORDINARY LOVE (1992) ของ Sade ด้วยกัน โดยใน mv นี้ Sade แต่งตัวเป็นนางเงือก แล้วเพื่อนของเราก็พูดขึ้นมาว่า กะเทยต้องชอบมิวสิควิดีโอนี้แน่ๆ เราก็เลยถามว่า ทำไม เพราะตัวเราเองเฉยๆกับ mv นี้ แต่เพื่อนกะเทยคนนึงชอบ mv นี้มากๆ เขาก็เลยตอบว่า เพราะ mermaid เป็น “half woman” เหมือนกะเทย และ mv นี้ก็แสดงให้เห็นถึงโลกสวยงามในจินตนาการของกะเทย และกะลาสีเรือใน mv นี้ก็มักจะเป็น object of desire ของเกย์และกะเทยด้วย

5.แต่ในส่วนของ “เนื้อเรื่อง” นั้น เรากลับเฉยๆกับละครเวทีเรื่องนี้นะ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราเองก็ประหลาดใจเหมือนกัน เพราะตามหลักเหตุผลแล้ว เราควรจะอินกับละครเวทีเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะเราเองในสมัยเรียนมหาลัย เราก็ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงเหมือนกัน คือในแง่นึงเราก็เคยเป็น “กะเทยที่ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง” มาก่อน แต่ทำไมเราถึงรู้สึกเฉยๆกับเนื้อเรื่องของละครเวทีเรื่องนี้ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

เราเองก็เลยลองคิดเล่นๆว่า สาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกเฉยๆ อาจจะเป็นเพราะว่า

5.1 เราเคยดูละครเวทีทำนองนี้มาบ้างแล้วน่ะ โดยเฉพาะเรื่อง TARO THE LITTLE POODLE (2014, Sangsa Santimaneerat, A+20) ที่เป็นกะเทยสาวแสดงเดี่ยว monologue เหมือนกัน และเราก็เคยดูละครเวทีเกย์ๆกะเทยๆมาเยอะหลายเรื่องด้วย รวมทั้งหนังเกย์อีกหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพบเจอในละครเวทีเรื่องนี้ ก็เลยขาดความแปลกใหม่ไปเลยน่ะ ทั้งประเด็นเรื่องการโดนเหยียดจากสังคม, การเรียกร้องให้สังคมยอมรับความแตกต่าง และชีวิตของกะเทยเหงาๆที่หารักแท้ได้ยาก

คือประเด็นเหล่านี้มันเป็นประเด็นที่จริงนะ และเราก็เจอมากับตัวเองทั้งนั้น เราเองก็เป็นกะเทยเหงาๆที่หารักแท้ไม่ได้เหมือนกัน แต่บางทีความรู้สึกเหล่านี้ของเรามันอาจจะได้รับการระบายออกไปหมดแล้วผ่านทางการดูหนังเกย์และละครเวทีเกย์หลายเรื่องในช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้

5.2 ปัจจัยสำคัญอีกอันนึงที่ทำให้เราไม่อินกับละครเวทีเรื่องนี้ ก็คือเราไม่ชอบ THE LITTLE MERMAID และเราไม่ชอบการ์ตูนดิสนีย์ คำว่า “ไม่ชอบ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “เกลียด” นะ คือเราเฉยๆกับการ์ตูนดิสนีย์น่ะ เราไม่อินกับมัน เพราะฉะนั้นพอละครเวทีเรื่องนี้มันไปอิงกับสิ่งที่เราไม่ชอบ มันก็เลยพลอยทำให้เรารู้สึกเฉยๆกับละครเวทีเรื่องนี้ไปด้วย

5.3 โดยรสนิยมส่วนตัวของเราเองนั้น เราอาจจะสนใจฟังเรื่องอื่นๆมากกว่าเรื่องราวในละครเวทีเรื่องนี้น่ะ คือเราและเพื่อนๆเกย์/กะเทยหลายคนของเรา ก็เป็นโสด และใช้ชีวิตอยู่อย่างเหงาๆเปล่าเปลี่ยวเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกเราจะแทบไม่เคยใช้เวลาไปกับการพร่ำรำพันถึงความเหงาของตัวเองน่ะ ทั้งๆที่มันเป็น “ความจริงในชีวิตของเรา” ที่เราต้องใช้เวลาอยู่กับมันในทุกๆวินาที คืออย่างเราเอง เราก็ชอบเอาเวลาไปฟัง “ประสบกาม” ของเพื่อนๆเกย์/กะเทยของเรามากกว่า เราชอบเอาเวลาไปฟังเรื่องราวของเพื่อนๆเรา เวลาไปเอากับผู้ชายตามปั๊มน้ำมัน, เวลาไปเอากับคนงานก่อสร้าง, เอากับผู้ชายบนรถไฟ, เวลาไปเอากับคนงานพม่า, ลาว, กัมพูชาอะไรพวกนี้ 555

คือละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้ทำอะไรผิดนะ แต่มันเป็นรสนิยมส่วนตัวของเราเองที่ขี้เกียจฟังเรื่องของ “การหารักแท้ไม่ได้” แล้วน่ะ คือเราใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงของ “การหารักแท้ไม่ได้” มาจนอายุ 42 ปีแล้ว เราก็เลยขี้เกียจฟังเรื่องนี้แล้ว เราชอบฟังเรื่องการเอากับคนงานพม่าที่เจอโดยบังเอิญในร้านลาบเป็ดอะไรพวกนี้มากกว่า 555

6.มีประเด็นอีกอันนึงที่ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้เราคิดขึ้นมาโดยที่ตัวละครเองก็คงไม่ได้ตั้งใจ ก็คือประเด็นเรื่อง “ความแตกต่าง” โดยในตอนแรกนั้น ละครเวทีเรื่องนี้พูดในทำนองที่ว่า ให้คนเรายอมรับความแตกต่าง ซึ่งน่าจะหมายถึงการยอมรับเพศอื่นๆที่ไม่ใช่เพศหญิงและเพศชาย

ซึ่งเราก็เห็นด้วยกับสิ่งนี้มากๆ แต่เราอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันตอนดูละครเวทีเรื่องนี้ เพราะอย่างที่เราบอกไปแล้วว่า เราได้รับสารแบบนี้จากหนังเกย์/ละครเวทีเกย์ไปแล้วหลายเรื่อง

แต่พอเราไม่อินกับเนื้อเรื่องของละครเวทีเรื่องนี้ เราก็เลยนึกต่อยอดขึ้นไปได้ว่า จริงๆแล้วกะเทยทุกคนก็มีความแตกต่างกัน เพื่อนกะเทยของเราบางคนก็คงจะชอบละครเวทีเรื่องนี้มากๆ ถ้าหากพวกเขาได้ดู เพราะเพื่อนกะเทยของเราบางคนชอบ THE LITTLE MERMAID มากๆ เพียงแต่เราไม่ชอบ

สิ่งที่เราคิดต่อยอดออกไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับละครเวทีเรื่องนี้โดยตรงก็คือว่า บางทีนี่อาจจะเป็น step ต่อไปที่ “หนังเกย์” ของไทย และ “หนังชาติพันธุ์” ของไทย ควรดำเนินไปก็เป็นได้ ก็คือการสร้างความแตกต่างและความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน แทนที่จะทำออกมาในแบบพิมพ์เดียวกันหมด

คือเรามองว่าในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อน หนังเกย์ของไทย และหนังชาติพันธุ์ของไทย มันมีน้อยมากน่ะ มันแทบไม่มีหนังที่เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หรือหนังที่ช่วยแสดงตัวตนของเกย์และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ต่างๆในไทยเลย

แต่ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา มันมีหนังเกย์ไทยและหนังชาติพันธุ์ของไทยออกมาเยอะมาก และหนังเหล่านี้ก็ช่วยแสดงตัวตนของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ช่วยเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนเหล่านี้ ช่วยแสดงปัญหาของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ออกมาให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้

แต่พอหนังเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พบปัญหาอันนึงที่ว่า ในขณะที่หนังเหล่านี้ช่วยสนับสนุน “ความแตกต่างทางเพศ” และ “ความแตกต่างทางชาติพันธุ์” แต่หนังหลายๆเรื่องในกลุ่มนี้ กลับแทบไม่แตกต่างจากกัน ทั้งๆที่จริงๆแล้วกะเทยแต่ละคนก็มีความแตกต่างจากกัน และชนกลุ่มน้อยแต่ละคนก็มีความแตกต่างจากกัน

(คือมันก็มีหนังเกย์ไทยหลายๆเรื่องที่ดีมาก และเป็นตัวของตัวเองมากๆอย่าง HOW TO WIN AT CHECKERS EVERY TIME กับ THE BLUE HOUR นะ แต่ก็มันมีหนังเกย์ไทยอีกหลายๆเรื่องที่มันดูคล้ายกันมากเกินไป)

เพราะฉะนั้นพอเราดู MY MERMAID DREAM เราก็เลยคิดถึงจุดนี้ขึ้นมาน่ะ อันนี้เราพูดในฐานะที่เราเป็นคนชอบดูหนังนะ ไม่ใช่ในฐานะคนชอบดูละครเวที คือการทำหนังไทยที่สะท้อนชีวิตเกย์และคนกลุ่มน้อยก็ควรทำต่อไปน่ะแหละ แต่เราควรตระหนักด้วยว่า มันมีหนังไทยทำนองนี้ออกมาเยอะมากแล้ว และหลายๆเรื่องก็พูดประเด็นซ้ำๆเดิมๆ เพราะฉะนั้นเราควรจะทำยังไง เราถึงจะสร้างความแตกต่างให้กับหนังของเราได้ เราสามารถพูดประเด็นซ้ำๆเดิมๆได้น่ะแหละ เพราะปัญหาเดิมๆหลายอย่างมันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข พ่อแม่หัวโบราณหลายคนก็ยังรับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์ แต่ถ้าหากเราจะพูดประเด็นที่มันซ้ำกับหนังเรื่องอื่นๆ เราก็ควรจะต้องหาวิธีการนำเสนออะไรบางอย่าง ที่มันฉีกออกไป หรือที่มันเป็นตัวของตัวเราเองจริงๆ หาด้านอะไรในตัวเราที่มันไม่ค่อยเหมือนเพื่อนๆเกย์/กะเทยของเรา หรือไม่เหมือนเพื่อนชนกลุ่มน้อยของเรา แล้วชูจุดนั้นออกมา

7.จริงๆแล้วเราชอบการแสดง QUEEN ใน PIECES OF THE SOUL (2014) ของคุณปัถวีในระดับ A+30 เลยนะ อันนั้นมันเข้าทางเรามากๆ ถูกต้องตามรสนิยมส่วนตัวของเรามากๆ มันเหมือนกับว่าใน QUEEN นั้น คุณปัถวีแสดงเป็นเจ้าแม่ที่เฮี้ยนมากๆอะไรสักอย่าง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราอยากเป็น แต่ใน MY MERMAID DREAM นี้ คุณปัถวีแสดงเป็นนางเงือก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเป็น

แต่เราก็ยังมองว่าคุณปัถวีเป็นนักแสดงที่เก่งสุดๆอยู่ดีน่ะแหละ ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า มันเหมือนกับศิลปินเพลงคนนึงที่ออกซิงเกิ้ลมา 2 เพลง แล้วเพลงนึงมันเข้าทางเรา แล้วเพลงนึงมันไม่เข้าทางเราเท่านั้นเองน่ะ แต่ศิลปินคนนั้นเป็นคนๆเดียวกัน และเราก็ยังคงมองว่าเขาเป็นศิลปินที่มีความสามารถสูงมากอยู่


สรุปง่ายๆก็คือว่า ถ้าหากคุณปัถวีเป็นมาดอนน่า การแสดง QUEEN ก็อาจจะเหมือนกับเพลง BEDTIME STORY (1995) ที่ออกมาเข้าทางเรามากๆ ส่วนการแสดง MY MERMAID DREAM ก็อาจจะเหมือนกับเพลง CHERISH (1989)  ที่ไม่ค่อยเข้าทางเราเท่าไหร่จ้ะ

No comments: