Monday, December 14, 2015

TAMASHA (2015, Imtiaz Ali, India, A+30)

TAMASHA (2015, Imtiaz Ali, India, A+30)

1.แค่ช่วง 5 นาทีแรก ที่ตัวละครเล่าเรื่องว่า “ทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปกรุงทรอย แล้วก็เลยเกิดสงครามกรุงทรอยเพื่อชิงตัวนางสีดากลับมา” เราก็รู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้มีสิทธิได้ A+30 จากเราสูงมาก เพราะเราชอบการไหลมาบรรจบกันของเรื่องเล่าต่างๆแบบนี้มากๆ

จริงๆแล้วช่วง 5 นาทีแรกของเรื่องนี้ ทำให้นึกถึง ARABIAN NIGHTS (2015, Miguel Gomes) และพวกหนังของ Alain Robbe-Grillet, Raoul Ruiz เลยนะ เพราะมันเป็นเรื่องเล่าซ้อนกันไปซ้อนกันมา คือมันเปิดฉากด้วยละครเวทีที่มีตัวละครหุ่นยนต์กับตัวตลกมาเล่าเรื่องให้คนดูฟัง แล้วเรื่องที่หุ่นยนต์เล่า ก็เหมือนจะกลายเป็น “ภาพยนตร์” (ตอนนี้คือยังซ้อนกันแค่สองชั้น คือเป็นภาพยนตร์ TAMASHA ที่เล่าเรื่องละครเวทีที่เล่าเรื่องภาพยนตร์) แต่ภาพยนตร์ที่หุ่นยนต์เล่า เป็นเรื่องของเด็กชายคนนึงที่ชอบไปฟังตาแก่ข้างถนนเล่านิทาน แล้วตาแก่คนนั้นก็เอาตำนานโมเสส, มหาภารตะ, โรมิโอจูเลียต, อะลาดินมาผสมกันไปหมด แล้วก็ตัดมาเป็นเรื่องเล่าหลักที่เกาะ Corsica ซึ่งตอนนี้เราก็จะเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เรื่องราวที่เกาะ Corsica มันเป็นเรื่องที่ “ตาแก่เล่าให้เด็กฟัง” หรือไม่ โดยที่ตาแก่คนนั้นอยู่ในมิติของ “เรื่องที่หุ่นยนต์เล่าให้คนดูฟัง” อีกชั้นหนึ่ง

หนังยังเพิ่มความงงเข้ามาอีกเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก และทำให้นึกถึง Raoul Ruiz อะไรแบบนี้มากๆ เพราะในขณะที่เรื่องราวของหญิงสาวชื่อ “โมนา” กับชายหนุ่มชื่อ “ดอน” ที่พบกันบนเกาะ Corsica ดำเนินไปเรื่อยๆนั้น เราก็จะเริ่มงงว่า ใครเป็นคนเล่าเรื่องนี้กันแน่ เพราะอยู่ดีๆก็เหมือนกับว่าเรื่องราวของโมนากับดอนที่เราดูอยู่ ถูกเล่าด้วย “คณะละครเร่ข้างถนน” หรือไม่ก็ถูกเล่าโดย “คนขับรถตุ๊กตุ๊ก” หรือไม่ก็ถูกเล่าโดยตัวดอนเอง และไอ้ทั้งหมดนี้ จริงๆแล้วมันยังเป็นเรื่องเล่าของหุ่นยนต์บนละครเวทีอยู่หรือเปล่า อะไรคือวงเล็บซ้อนวงเล็บซ้อนวงเล็บในหนังเรื่องนี้ วงเล็บไหนอยู่นอกสุด วงเล็บไหนอยู่ในสุด ซึ่งกว่าเราจะรู้ว่าวงเล็บไหนอยู่นอกสุด เราก็ต้องดูจนจบเรื่อง ถึงจะเห็นวงเล็บปิดที่อยู่นอกสุดจริงๆ

2.นอกจากโครงสร้างของหนังจะทำให้นึกถึง Raoul Ruiz, Alain Robbe-Grillet, Miguel Gomes แล้ว ตัวเนื้อเรื่องหลักของหนัง เรายังชอบมากๆด้วย เพราะมันเล่าเรื่องของ “โมนา” กับ “ดอน” ชายหนุ่มหญิงสาวชาวอินเดียที่บังเอิญพบรักกันบนเกาะ Corsica โดยเนื้อหาช่วงนี้ทำเหมือนขนบหนังบอลลีวู้ดประมาณ 100 เรื่องที่เราเคยดูมา

แต่หลังจากนั้น หนังมันตั้งคำถามที่เราสนใจมากๆว่า ความรักของคนที่เจอกันแบบนั้น มันจะทนอยู่อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ เมื่อเจอกับ “ชีวิตประจำวัน” คือคุณอาจจะมีความสุขเมื่อได้อยู่กับคนคนนั้นขณะท่องเที่ยวดูวิวสวยๆไปเรื่อยๆ แต่คุณจะยังมีความสุขอยู่หรือไม่ เมื่อคุณต้องเจอคนคนนั้น ทำตัวเป็น “มนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ” แปรงฟันทุกวัน กินข้าวเช้าที่โต๊ะนั้นทุกวัน ออกจากบ้านเวลานี้ทุกวัน กลับบ้านเวลานี้ทุกวัน คุณจะทนใช้ชีวิตประจำวันกับคนคนนั้นได้ตลอดไปหรือไม่ นี่คือความสุขที่คุณต้องการจริงๆเหรอ ชีวิตในฝันของคุณมีแค่นี้จริงๆเหรอ คุณชอบชีวิตซ้ำซากแบบนี้จริงๆเหรอ

3.หนังเรื่องนี้มีบางฉากที่เหมือนกับ THE LOBSTER (2015, Yorgos Lanthimos, A+30) มากๆด้วย และจริงๆแล้วมันเหมือนเป็นญาติห่างๆของ THE LOBSTER ในแง่นึง คือในขณะที่ THE LOBSTER ทำให้เราตั้งคำถามกับ “ความเชื่อเรื่องชีวิตคู่และความรักที่สังคมยัดเยียดมาให้เราเชื่อ” หนังเรื่อง TAMASHA ก็เหมือนจะตั้งคำถามหรือยั่วล้อขนบหนังรักบอลลีวู้ดในระดับนึง อย่างไรก็ดี มันตรงข้ามกับ THE LOBSTER ในแง่ที่ว่า THE LOBSTER มันเหมือนจะ “ทำลาย” หรือปฏิเสธความเชื่อเรื่องชีวิตคู่/ชีวิตโสดที่สังคมยัดเยียดให้ แต่ TAMASHA กลับไม่ทำลายหรือปฏิเสธขนบหนังรัก มันเพียงแค่ขยิบตาให้ผู้ชม หรือบอกผู้ชมว่า “ฉันรู้ตัวนะ ว่าฉันทำตัวตามขนบอยู่ แต่ดูสิ เรื่องเล่าในตำนานต่างๆ ตั้งแต่รามายาณะ มาจนถึง Romeo & Juliet มันก็มีฉากอะไรแบบนี้เหมือนกันทั้งนั้นแหละ” เพราะฉะนั้น TAMASHA จึงทำเพียงแค่เปิดเปลือยให้เห็นโครงสร้างของ “เรื่องรัก” ในตำนานชาติต่างๆและหนังบอลลีวู้ด แต่ไม่ได้ทำลายหรือปฏิเสธโครงสร้างของเรื่องรักเหล่านั้น


4.อย่างไรก็ดี อีกจุดที่ทำให้นึกถึง Raoul Ruiz ก็คือว่า หนังเรื่องนี้มีทั้งจุดดีและจุดด้อยเหมือนหนังของ Ruiz คือหนังของ Ruiz หลายๆเรื่อง เราจะชอบโครงสร้างที่ซับซ้อนของมัน ชอบการร้อยเรียงโครงสร้างที่ซับซ้อนเหล่านี้ให้ออกมาได้อารมณ์ที่สอดคล้องงดงาม และชอบไอเดียประหลาดๆของมัน แต่หนังของ Ruiz มันจะไม่ “สะเทือนอารมณ์” เราอย่างรุนแรง ซึ่งหนังเรื่อง TAMASHA นี้ก็เหมือนกัน คือเราจะชอบ “โครงสร้าง” ของมันมากๆ ชอบ “ไอเดีย” ของมันมากๆ แต่มันก็จะไม่ “สะเทือนอารมณ์” เราอย่างรุนแรงเหมือนกัน

No comments: