Saturday, January 16, 2016

BAAL (1970, Volker Schlöndorff, West Germany, A+30)

BAAL (1970, Volker Schlöndorff, West Germany, A+30)
Hyperbolic Paraboloid จริงๆค่ะ

1.รู้สึกเหมือนรอนแรมอยู่กลางทะเลทรายมานานหลายปี แล้วหนังเรื่องนี้เป็นโอเอซิส 555 คือพอดูแล้วเรารู้สึกเลยว่าเราโหยหาหนังกลุ่ม New German Cinema แบบนี้มากๆ คือมันเป็นหนังแนวเสียสติสมประดี ไม่ทราบชีวิตอะไรอีกต่อไป ซึ่งเป็นหนังแนวที่ Werner Schroeter, Ulrike Ottinger, Christoph Schlingensief และ Herbert Achternbusch ชอบทำน่ะ ซึ่งจริงๆแล้ว Volker Schlöndorff ไม่เคยทำหนังแบบนี้มาก่อนเลยนะ แต่พอดูแล้วเราก็รู้สึกว่า นี่แหละคือ spirit แบบหนังกลุ่ม New German Cinema ในทศวรรษ 1970 ที่เราชอบมากๆ

2.เราว่านี่คือหนังที่มีความเป็น Herbert Achternbusch สูงที่สุดในบรรดาหนังที่ Herbert Achternbusch ไม่ได้กำกับเองนะ 555 (หนังอีกเรื่องที่เราว่ามีความเป็น Achternbusch สูงมากๆคือหนังเรื่อง HIPSTER, INTERRUPTED ที่กำกับโดย Worawut Kruegaew) คือดูแล้วนึกถึงความเสียสติในหนัง Achternbusch มากๆ คือมันเป็นหนังแนวที่มีแต่ตัวละครชิบหายๆ มาทำบ้าๆบอๆเสียสติตลอดทั้งเรื่อง พูดจาก็ไม่รู้เรื่อง คือเราเข้าใจคำแต่ละคำที่ตัวละครพูดออกมา แต่ไม่เข้าใจว่า พอคำเหล่านั้นมาเรียงกันเป็นประโยค แล้วมันจะสื่ออะไรกันแน่ และที่สำคัญก็คือว่า ตัวละครแต่ละตัวมันเหมือนคุยกันในแบบที่เราไม่รู้เรื่องด้วย คือตัวละครมันเหมือนคุยกันรู้เรื่องของมันกันเองนะ แต่เราจะไม่เข้าใจว่าประโยคที่ตัวละคร A พูด มันเกี่ยวกับประโยคที่ตัวละคร B ตอบกลับไปยังไง แล้วมันเกี่ยวกับประโยคที่ตัวละคร C พูดต่อมายังไง คือตัวละครเหมือนคุยรู้เรื่องกันเอง แต่เราจะงงว่าแต่ละประโยคที่แต่ละตัวละครพูด มันเชื่อมกันด้วยหลักเหตุผลอะไร 555

ซึ่งอะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขสูงสุดในหนังของ Achternbusch น่ะ ซึ่งมันนานมากๆๆๆๆๆๆเลยกว่าเราจะเจอหนังที่ให้ความรู้สึกอะไรแบบนี้อีก เพราะฉะนั้นพอเราได้เจอหนังเรื่อง BAAL เราก็เลยรู้สึกเหมือนกันว่าเรารอนแรมกลางทะเลทรายมานาน 10 ปี กว่าจะได้เจอน้ำทิพย์ในโอเอซิสนี้

แต่หนังพวกนี้มันมีประเด็นของมันนะ มันไม่ได้ฮี้ห่าของมันไปเรื่อยๆโดยไม่มีประเด็น อย่าง HIPSTER, INTERRUPTED ก็เสียดสีฮิปสเตอร์ในแบบที่ฮามากๆ หนังของ Achternbusch แต่ละเรื่องก็พูดถึงประเด็นต่างๆกันไป ส่วน BAAL นั้น เราไม่แน่ใจว่าประเด็นของมันคืออะไร แต่เราดูแล้วนึกถึงการเสียดสีศิลปิน/กวีบางจำพวก โดยเฉพาะการเสียดสี “ความโรแมนติกของชีวิตศิลปิน/กวี” อะไรทำนองนี้

เราว่าหนังกลุ่มนี้เหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างหนังประสาทแดกอย่าง PEPI, LUCI, BOM (1980, Pedro Almodovar) ที่ตามเนื้อเรื่องได้ง่ายมากๆ กับหนังที่ดูแล้วตามเนื้อเรื่องได้ยากหน่อย อย่าง LA CHINOISE (1967, Jean-Luc Godard) คือหนังกลุ่มนี้มันอาจจะเสียดสีคนกลุ่มหนึ่ง/วัฒนธรรมชุดหนึ่งในแต่ละสังคม/ยุคสมัยอะไรพวกนี้เหมือนๆกัน แต่มันทำออกมาได้ประสาทแดกมากๆ และมันมีระดับความยากง่ายในการตามเนื้อเรื่องแตกต่างกันไป โดยหนังอย่าง PEPI, LUCI, BOM จะตามเนื้อเรื่องได้ง่ายสุด หนังอย่าง BAAL + หนังของ Herbert Achternbusch + Ulrike Ottinger จะตามเนื้อเรื่องได้ยากขึ้น และหนังของ Godard จะดูแล้วปะติดปะต่อเรื่องได้ยากที่สุด แต่มันมีการเสียดสีมนุษย์/แนวคิดของมนุษย์/สังคม ได้อย่างประสาทแดกเหมือนๆกัน

3.แต่เราว่าหนังก็ขาด “อะไรบางอย่าง” ที่ทำให้มันไม่ทรงพลังสุดๆแบบหนังของ Herbert Achternbusch นะ ซึ่งเราก็บอกไม่ถูกว่ามันขาดอะไรไป แต่เราเดาว่ามันอาจจะเป็นเพราะว่า Herbert Achternbusch น่ะเป็นคนที่มี “จิตวิญญาณแห่งความเสียสติ” อยู่ในตัว หนังของเขาก็เลยออกมาเป็นแบบนั้น แต่ในหนังเรื่อง BAAL นั้น เราเดาว่าความเสียสติมันอาจจะมาจากตัวบทประพันธ์ดั้งเดิมของ Bertolt Brecht ก็ได้มั้ง (เราไม่เคยอ่านตัวบทประพันธ์ดั้งเดิม เราก็เลยไม่แน่ใจ) เพราะหนังอีก 8 เรื่องของ Volker Schlöndorff ที่เราเคยดู มันไม่มีความเสียสติอะไรแบบนี้อยู่เลยแม้แต่นิดเดียวน่ะ เพราะฉะนั้นการที่ตัวผู้กำกับหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีลักษณะของความ “โรคจิตสิงสู่” อยู่ในตัวเอง หนังก็เลยเหมือนขาดพลังของความวิกลจริตบางอย่างไป

4.ชอบตัวละครที่ Sigi Graue เล่นมากๆ

5.จัดเป็นหนังอีกเรื่องที่ถือได้ว่ามีฉากคลาสสิคทุก 5 นาทีสำหรับเรา คือหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้มันไม่มีความปกติมนุษย์อีกต่อไป

6.ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30  Volker Schlöndorff ก็ยังคงเป็นผู้กำกับที่เราชอบน้อยที่สุดในกลุ่ม New German Cinema ต่อไปนะ 555 (เช่นเดียวกับ François Truffaut ที่ครองตำแหน่งผู้กำกับที่เราชอบน้อยสุดในกลุ่ม French New Wave ตลอดมาและตลอดไป) คือเราว่าความดีความชอบของหนังเรื่องนี้น่าจะมาจาก Bertolt Brecht เป็นหลักน่ะ เพราะหนังอีก 8 เรื่องของ Schlöndorff ที่เราเคยดู ไม่มีความเสียสติอะไรแบบนี้เลย และเราเดาว่า สไตล์หนังและคุณภาพหนังของ Schlöndorff แต่ละเรื่อง มันคงจะแปรผันไปตามตัว “บทประพันธ์ดั้งเดิม” ของหนังเรื่องนั้นๆก็ได้มั้ง

และเราก็พบว่า ถึงแม้เราจะชอบหนังของ Schlöndorff บางเรื่องมากๆ อย่างเช่น THE LOST HONOR OF KATHARINA BLUM (1975) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ Heinrich Böll แต่เราก็ว่าหนังเรื่องนี้มันก็เทียบไม่ติดกับหนังอย่าง THE BREAD OF THOSE EARLY YEARS (1962, Herbert Vesely) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ Heinrich Böll เหมือนกันน่ะ ส่วน THE TIN DRUM (1979, Volker Schlöndorff) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ Günter Grass นั้น มันก็เทียบไม่ติดกับหนังอย่าง CAT AND MOUSE (1967, Hans Jürgen Pohland) ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ Günter Grass เหมือนกัน คือพอมันมีตัวเทียบกันอย่างนี้แล้ว เราก็จะอดสงสัยไม่ได้ว่า Volker Schlöndorff ดัดแปลงบทประพันธ์เหล่านี้ออกมาเป็นหนังได้ “ดี” หรือเปล่ากันแน่ คือตัวหนังของชเลินดอร์ฟส่วนใหญ่มันน่าพอใจมากๆนะ มันเป็นหนัง narrative ที่เล่าเรื่อง 1,2,3,4 ได้อย่างดี แต่มันไม่ให้ความรู้สึกมหัศจรรย์เหมือนหนังของ Herbert Vesely กับ Hans Jürgen Pohland น่ะ


สรุปว่า Schlöndorff เป็นผู้กำกับที่เราชอบในระดับนึงนะ แต่อย่าเอาเขาไปเทียบกับผู้กำกับคนอื่นๆในกลุ่ม New German Cinema เท่านั้นเอง เพราะพอเอาเขาไปเทียบปุ๊บ เขาจะครองอันดับโหล่ในทันที 555

No comments: