Monday, February 22, 2016

KAWASAKI’S ROSE (2009, Jan Hrebejk, Czech, A+25)

KAWASAKI’S ROSE (2009, Jan Hrebejk, Czech, A+25)

1.พอดูหนังเรื่องนี้กับ FAIR PLAY (A+25) ที่ฉายในงานสัปดาห์ศิลปะวัฒนธรรมเชคเหมือนกันแล้ว ก็พบว่าหนังสองเรื่องนี้เหมาะที่จะฉายในงานมากๆ เพราะมันสะท้อนประวัติศาสตร์เชคได้ดี โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองในแบบที่สามารถเอามาเทียบกับไทยได้

2.เราว่า “ประเด็น” ใน KAWASAKI’S ROSE มันดีมากๆ คือประเด็นมันแน่นมาก และหนังก็ดูเหมือนจะออกแบบตัวละครออกมาได้สอดคล้องกับประเด็นเป็นอย่างดีมาก

3.แต่สาเหตุที่เราอาจจะไม่ชอบ KAWASAKI’S ROSE แบบสุดขีดถึงขั้น A+30 เป็นเพราะเรารู้สึกว่ามัน “ไม่เจ็บจริง” น่ะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร แต่เหมือนกับว่าผู้กำกับ/คนเขียนบทยังไม่เก่งถึงขั้นเทพในระดับที่สามารถทำหนังที่สื่อประเด็นได้ดี + ทำให้ตัวละครเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ + สะท้อนความเจ็บปวดจริงๆออกมาได้ด้วย

คือเราว่า Jan Hrebejk ทำหนังที่สื่อประเด็นได้ดีมากๆนะ โดยเฉพาะเรื่อง DIVIDED WE FALL (2000) ของเขา ก็สื่อประเด็นได้ดีเหมือนกัน และตัวละครของเขาก็เป็นมนุษย์มากในระดับนึง แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นมนุษย์อย่างสุดๆน่ะ และหนังของเขาไม่ทำให้เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดจริงๆของตัวละคร แต่นั่นไม่ใช่ว่าหนังเรื่องไหนที่ขาดคุณสมบัติข้อนี้ถือว่าหนังเรื่องนั้น “บกพร่อง” นะ แต่มันเป็นรสนิยมส่วนตัวของเราน่ะ คือเรามักจะรู้สึกสุดๆกับหนังที่ทำให้เรารู้สึก “เจ็บปวด” ไปกับตัวละคร เหมือนอารมณ์ “เจ็บปวด” เป็นอารมณ์ที่กระตุ้นเราได้ง่ายน่ะ ในขณะที่อารมณ์ขันเป็นอารมณ์ที่กระตุ้นเราได้ยาก เพราะฉะนั้นหนังของ Milos Forman + Jirí Menzel หลายๆเรื่อง จึงเป็นหนังที่ไม่เข้าทางเราซะทีเดียวนัก เพราะหนังของ Forman กับ Menzel มีอารมณ์ขัน แต่เราเป็นคนที่ตายด้านกับอารมณ์ขันส่วนใหญ่ในหนัง

4.แต่เราก็พอใจกับ KAWASAKI’S ROSE ในระดับมากพอสมควรนะ เพราะมันยากมากแหละ ในการทำหนังที่ตัวละครต้อง “สะท้อนประเด็น” + “สะท้อนประวัติศาสตร์” ด้วย และต้องเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ มีหลายมิติในตัวเองด้วย

คือถ้าหากพูดถึงหนังเชคที่เราว่าตัวละครมันเป็น “มนุษย์” จริงๆ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากๆ และหนังสามารถสะท้อน “ความเจ็บปวดจริงๆ” ออกมาได้ เราจะนึกถึงหนังที่กำกับโดย Bohdan Slama กับ Alice Nellis น่ะ แต่แน่นอนว่า การที่หนังของผู้กำกับสองคนนี้มันสามารถสะท้อนความเป็นมนุษย์และอารมณ์เจ็บปวดออกมาได้รุนแรงจริงๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมันอาจจะเป็นเพราะว่า ตัวละครในหนังของผู้กำกับสองคนนี้ มันไม่ต้องแบกรับภาระในการสะท้อนประวัติศาสตร์ และสะท้อนประเด็นอะไรที่ชัดเจนมากนักก็ได้ พอตัวละครมันไม่ต้องแบกภาระที่หนักอึ้งดังกล่าว ตัวละครมันก็เลยมีอิสระมากขึ้น และแสดงความเป็นมนุษย์ออกมาได้มากขึ้น

5.ดู KAWASAKI’S ROSE แล้ว จะนึกถึงหนังอีกสองเรื่องที่ชอบสุดๆด้วย ซึ่งก็คือ MUSIC BOX (1989, Costa-Gavras) กับ THE LAST REEL (2014, Kulikar Sotho, Cambodia) เพราะหนังสองเรื่องนี้พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังเหมือนกัน โดยตัวละครรุ่นลูกใน MUSIC BOX กับ THE LAST REEL ต่างก็ค้นพบประวัติดำมืดบางอย่างเกี่ยวกับคนรุ่นพ่อแม่ของตนเอง และทำให้พวกเขามองพ่อแม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

แต่เราชอบ MUSIC BOX กับ THE LAST REEL มากกว่า KAWASAKI’S ROSE เยอะนะ เราว่า

การดู KAWASAKI’S ROSE ให้ความรู้สึกเหมือนกับโดนมีดบาดนิ้ว คือมัน “เจ็บ” แต่ไม่มาก

การดู THE LAST REEL ให้ความรู้สึกเหมือนกับโดนธนูยิงเข้าที่อก แต่เสร็จแล้วหนังก็ทำแผลให้เรา คือมัน “เจ็บ” มาก แต่หนังก็ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดนั้น


การดู  MUSIC BOX ให้ความรู้สึกเหมือนกับมีใครเอามีดมาแทงเราที่หัวใจ เสร็จแล้วเขาก็ราดน้ำกรดซ้ำลงไปที่แผล แล้วเขาก็เดินจากไป ทิ้งเราให้ดิ้นทุรนทุรายตลอดไป

No comments: