Tuesday, July 26, 2016

KLOSE (2016, Asamaporn Samakphan, 40min, A+30)

KLOSE (2016, Asamaporn Samakphan, 40min, A+30)

1.ชอบมากที่หนังเฉลยตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องว่า พระเอก... แทนที่จะนำเรื่องนี้มาใช้เป็นจุดหักมุมหรือ surprise ในช่วงหลังของหนัง

2.ชอบการเล่นกับความแตกต่างของ texture ของภาพ ระหว่างภาพในอดีตที่เหมือนถ่ายด้วยกล้องแบบ video diary กับภาพของเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน

ถ้าจำไม่ผิด KLOSE เป็นหนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่เอาจุดนี้มาใช้ในการพูดถึง เพื่อนนะ เพราะหนังไทยส่วนใหญ่ที่เล่นกับความแตกต่างด้านภาพวิดีโอยุคเก่ากับภาพยุคปัจจุบันแบบนี้ มักจะเป็นหนังที่พูดถึง ครอบครัวน่ะ อย่างเช่นหนังเรื่อง เจ้าแม่กวนอิม เราจะไม่ทานเนื้อ” HOME USER (2015, Wanruedee Pungkuamchob), MY GRANDFATHER’S PHOTOBOOK (2015, Nutthapon Rakkatham + Phatthana Paiboon) และ 83 SOI SOONVIJAI 14 (2016, ธีร์ธวัช ใต้ฟ้ายงวิจิตร)

3.จริงๆแล้วเราไม่ได้อินกับหนังเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว เราก็เลยอาจจะไม่ได้รู้สึกอินกับฉากการสนทนายาวๆในช่วงท้ายของหนังมากนัก แต่ถึงแม้เราจะไม่ได้อินกับฉากการสนทนายาวๆนี้ เราก็ชอบที่หนังมันกล้าจะที่ถ่ายทอดฉากนี้ออกมายาวๆโดยไม่ได้เร้าอารมณ์คนดู มันเหมือนกับว่ามันมีความรู้สึกรุนแรงที่อยากถ่ายทอดออกมา มันก็ถ่ายทอดออกมาอย่างจริงใจ แทนที่จะถ่ายทอดออกมาโดยการตั้งเป้าว่า ฉันต้องทำให้คนดูร้องไห้ให้ได้เหมือนหนังทั่วไป 

เรารู้สึกว่าหนังถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสีย, ความรู้สึกผูกพันระหว่างตัวละครออกมาได้สูงมาก ซึ่งจุดนี้ทำให้เรานึกถึงหนังอีกเรื่องนึงที่แตกต่างจากหนังเรื่องนี้มากๆ ซึ่งก็คือเรื่อง MR. MAGORIUM’S WONDER EMPORIUM (2007, Zach Helm) สาเหตุที่นึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเพราะว่า เราไม่อินกับ MR. MAGORIUM เหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าทั้ง MR. MAGORIUM และ KLOSE มันมีการถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียของตัวละครคนนึงที่ผูกพันกับตัวละครอีกคนนึงออกมาได้อย่างรุนแรงมากๆเหมือนกัน

4.ไปๆมาๆแล้ว ฉากที่เราชอบมากที่สุดในหนัง คือฉากที่นางเอกพยายามไปปีนรั้วโรงเรียนทั้งๆที่เจ็บแผล แล้วพระเอกต้องคอยเตือนสติว่าอย่าทำอย่างนั้น

คือความรู้สึกชอบของเราที่มีต่อฉากนี้ มันคล้ายๆกับความรู้สึกชอบของเราที่มีต่อฉากนางเอกใน “303 กลัว กล้า อาฆาต” (1998, Somjing Srisupap) ที่ปีนตึกขึ้นไปเรื่อยๆหลังจากเพื่อนตาย กับฉากนางเอกใน MADELEINE (2015, Lorenzo Ceva Valla + Mario Garofalo) ที่เดินเท้าเปล่าเป็นระยะทางยาวไกลเพื่อเข้าเมือง ทั้งๆที่จริงๆแล้วนางเอกไม่จำเป็นต้องเดินเท้าเปล่าแบบนั้นก็ได้ 

คือ 3 ฉากนี้มันเหมือนกับว่าตัวละครหญิงถูกขับด้วยแรงผลักดันบางอย่างในใจของตัวเองน่ะ และแรงผลักดันนั้นมันทำให้ตัวละครกระทำอะไรบางอย่างที่ขัดกับหลักเหตุผลโดยสิ้นเชิง คือตัวละครในทั้ง 3 ฉากนี้ทำในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล หรือไม่สมควรทำ แต่เราดูแล้วรู้สึก เข้าใจเป็นอย่างดีว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรถึงทำในสิ่งที่ขัดกับเหตุผลแบบนี้

No comments: