Sunday, September 10, 2017

COMMON SENSE (2017, Chanon Santinatornkul, 22min, A+30)

COMMON SENSE (2017, Chanon Santinatornkul, 22min, A+30)

1.หนึ่งใน genre หนังสั้นไทยที่เราชอบสุดๆ ก็คือหนังกลุ่ม TWILIGHT ZONE แบบหนังเริ่องนี้นั่นแหละ โดยหนังในกลุ่มนี้รวมถึง TWIN SHADOW (2012, Amornsak Chatratin), THE ROOM (2011, Pesang Sangsuwan), CRYSTALLIZATION TIME (2011, Krissada Phongphaew), เส้นทางวงกลม (2012, Raksak Janpisu), THE DREAM (2016, Chonlathee Suanraksa), POLAROID (2016, Nattasun Nudsataporn), SMILE AGAIN (2015, Bua Kamdee), TIME OUT OF MIND (2016, สิทธิวัชร์ ทิพย์ธนโอฬาร), THE FANCIFULNESS OF THE UNIVERSE (2010, Krit Twinwawit) และหนังของ Janenarong Sirimaha หนังกลุ่มนี้เป็นหนังกึ่งไซไฟ กึ่งแฟนตาซี และเราชอบหนังสั้นไทยกลุ่มนี้อย่างสุดๆ เพราะเราชอบรายการทีวี TWILIGHT ZONE มากๆ

2. หนังเรื่องนี้เหมือนเอาไอเดียจาก THE PHANTOM OF LIBERTY (1974, Luis Bunuel) มาดัดแปลง และเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะเราชอบ THE PHANTOM OF LIBERTY มากๆ และมันก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราชอบพูดในตอนนี้ว่า ประเทศไทยในตอนนี้ไร้เหตุผลยิ่งกว่าหนังของบุนเยลซะอีก

แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนสังคมไทยนะ หนังแค่ตั้งคำถามเรื่อง สามัญสำนึก หรือความเชื่อพื้นฐานของมนุษย์ ว่าบางอันมันสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือว่าบางอันมันเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังให้เชื่อตามๆกันมาโดยไม่มีเหตุผล หรือเป็นเพียงแค่มายาคติ

สิ่งที่ทำให้นึกถึง THE PHANTOM OF LIBERTY ก็มีเช่น

2.1 ใน PHANTOM นั้น การกินข้าวเป็นเรื่องน่าละอาย ส่วนการอุจจาระเป็นเรื่องไม่น่าอาย ส่วนในหนังเรื่องนี้นั้น การกินข้าวเป็นเรื่องน่าอาย แต่การร่วมรักถือเป็นเรื่องปกติและสิ่งดีงาม ซึ่งเราเห็นด้วยกับประเด็นเรื่องการร่วมรักมากๆ

2.2 ใน PHANTOM นั้น รูปอุจาดไม่ใช่รูปโป๊ แต่เป็นรูปอาคารบ้านเรือน ส่วนในหนังเรื่องนี้นั้น คลิปอุจาดคือคลิปกินข้าว

2.3 ใน PHANTOM นั้น serial killer ไม่ได้รับการลงโทษ ส่วนในหนังเรื่องนี้ การฆ่าคนตายถือเป็นเรื่องปกติ

3. แต่โลกในหนังเรื่องนี้ก็มีความไม่สมเหตุสมผลในมุมมองของเราเองอยู่บ้างนะ เพราะโลกในหนังเรื่องนี้ สนับสนุนการร่วมรัก เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่โลกในหนังเรื่องนี้ สนับสนุนการฆ่าคนตาย เพื่อช่วยลดจำนวนประชากร (สรุปว่าโลกนี้ต้องการเพิ่มหรือลดจำนวนประชากรกันแน่) นอกจากนี้ ตัวละครในหนังเรื่องนี้ยังฆ่าคนตาย เพราะสามีนอกใจ ซึ่งเราว่าถ้าหากโลกนี้มันสนับสนุนการร่วมรักจริงๆ โลกนี้มันก็ควรจะสนับสนุน polygamy ด้วยหรือเปล่า เพราะ polygamy น่าจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรได้ดีกว่า monogamy

แต่ความไม่สมเหตุสมผลของโลกในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นข้อเสียใหญ่ในสายตาของเรานะ เพราะโลกในหนังเรื่องนี้มันเป็นโลกที่ common sense บิดเบี้ยวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่โลกในหนังเรื่องนี้ยึดถือความเชื่อที่ขัดแย้งกันเอง ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลในแง่นึงก็ได้ และจริงๆแล้วมันก็ไม่ต่างจากโลกของเราเองด้วย เพราะในโลกของเรานั้น ปัญหาทรัพยากรขาดแคลน, ปัญหาโลกร้อนก็รุนแรงอยู่แล้ว แต่บางประเทศก็ดูเหมือนจะยังมองว่าอัตราการเกิดที่ระดับต่ำถือเป็นปัญหาอยู่

4.อยากให้หนังเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาเป็นหนังยาวมากๆ คือมันสามารถพัฒนาออกมาได้เป็นสองแบบ

4.1 ออกมาแบบ THE PHANTOM OF LIBERTY ที่เน้นสังคมไทย โดยนำเสนอความไร้ตรรกะเหตุผลในสังคมไทยช่วงนี้ ทั้งเรื่องไผ่ ดาวดิน, ชัยภูมิ ป่าแส และความขัดกับหลักเหตุผลและสามัญสำนึกต่างๆของระบอบการปกครอง, กฎหมายไทย และคำตัดสินของศาลไทย

หนังในแนวทางนี้เราจะนึกถึง THE JOO (2016, Sattha Saengthon) ซึ่งไม่ใช่หนังแนว TWILIGHT ZONE นะ แต่เป็นหนังที่นำเสนอความไร้เหตุผลของสังคมไทยได้ดีมากๆ

4.2 ออกมาเป็นหนังที่เน้นการถกเถียงกันถึง ethics dilemma ในเรื่องต่างๆ อย่างเช่นประเด็นเรื่องการร่วมรักที่ตัวละครคุยกันในหนังเรื่องนี้ เราว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ และจริงๆแล้วมันสามารถนำไปพัฒนาเป็นหนังยาวที่มีฉากตัวละครมากมายร่วมรักกันในสถานที่สาธารณะ และมีฉากที่ตัวละครถกเถียงกันเรื่องการฆ่าตัวตาย, การุณยฆาต, การพนัน, over political correctness, มารยาทในการพูดสำคัญมากน้อยเพียงใด, การช่วยเหลือผู้อพยพ, การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้ความรุนแรง หรือประเด็นอะไรต่างๆได้อีกมากมายเลยด้วย

แต่ถ้าหากจะทำหนังยาวในแนวทางนี้ ผู้สร้างหนังต้องให้ “อาจารย์สอนปรัชญา” และ “นักวิชาการ” มาเป็นที่ปรึกษาในการเขียนบทด้วยนะ แล้ว arguments ต่างๆที่ตัวละครถกเถียงกันมันจะได้ฟังแล้วน่าสนใจจริงๆ เพราะถ้าหากผู้สร้างหนังไม่มีความรู้ทางปรัชญามากพอ แล้วสร้างหนังที่ต้องการพูดถึง ethics dilemma, common sense และมายาคติแบบนี้ บางทีตัวละครมันจะนำเสนอ arguments ที่อ่อนเกินไป แล้วหนังมันอาจจะออกมาโง่ตามตัวละครได้

หนังที่เราชอบสุดๆในแนวทางนี้ก็มีเช่น TIME (2010, Suppasit Sretprasert) เราว่าหนังอย่าง TIME นำเสนอ ethics dilemma ได้น่าสนใจดี

สรุปว่าอยากเห็น COMMON SENSE ได้รับการพัฒนาเป็นหนังยาวอย่างสุดๆ โดยมีอาจารย์สอนปรัชญามาเป็นที่ปรึกษาเขียนบทด้วย




No comments: