Saturday, December 09, 2017

THE KILLING OF A SACRED DEER (2017, Yorgos Lanthimos, A+30)

THE KILLING OF A SACRED DEER (2017, Yorgos Lanthimos, A+30)

1.ชอบสุดๆ 555 ถึงแม้จะไม่เข้าใจหนังมากนัก แต่เราไม่ได้ไปดูหนังแต่ละเรื่องเพื่อทำความเข้าใจมันอยู่แล้ว เราไปดูเพื่อหาความสุขจากมันต่างหาก และความสุขที่เราได้รับจากหนังเรื่องนี้ก็คือการที่มันทำให้เราคิดถึงประเด็นที่เราชอบ ถึงแม้หนังมันอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หรือถึงแม้มันอาจจะไม่ใช่จุดประสงค์ของผู้สร้างหนังก็ตาม

คือสิ่งที่เราจะเขียนต่อไปนี้ไม่ใช่ความหมายของหนังเรื่องนี้นะ แต่เป็นสิ่งที่เราคิดถึงหลังจากดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้สร้างหนังตั้งใจเลยแม้แต่นิดเดียวก็ได้

หนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงประเด็นเรื่อง “ด้านมืดของศาสนา” น่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว คือมันเหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการพูดถึงประเด็นนี้ แต่ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เราสนใจ เราก็เลยหยิบหนังเรื่องนี้มาใช้อธิบายสิ่งที่เราสนใจหรือความเชื่อส่วนตัวของเราซะเลย 555

คือเรามองว่าศาสนาหลายศาสนามีข้อดีตรงการสอนเรื่องความรักและความเมตตาน่ะ แต่ถ้าหากตัดความรักและความเมตตาออกไปแล้ว เราจะพบว่ามี concept หลายๆอันในศาสนาที่มันดีมากๆ แต่มันก็อาจจะถูกคนบางกลุ่มนำ concept เหล่านั้นไป exploit ในทางที่ผิดได้ ซึ่งก็คือ concept เรื่อง guilt, sin, justice, sacrifice อะไรทำนองนี้

คือความเชื่อเรื่อง guilt, sin, justice, sacrifice โดยทั่วไปแล้ว มันเป็นสิ่งที่ดีไง เราทำผิด เราก็ควร “สำนึกผิด”, เราควรรู้ว่าอะไรคือ “บาป” เราจะได้ไม่ไปทำบาป, เมื่อเกิดการกระทำผิดขึ้น เราก็ควรจะลงโทษคนผิด เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรม และเราควรจะเสียสละเพื่อผู้อื่นบ้าง

แต่คนบางกลุ่มในบางศาสนาหรือในบางสังคม ก็อาจจะนำ concept เหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิดได้น่ะ และเราว่าหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอการ exploit guilt, sin, justice และ sacrifice ในทางที่ผิดได้ในแบบที่สอดคล้องกับความเชื่อของเรามากๆ

คือหนังเรื่องนี้มันสอดคล้องกับความสงสัยของเราที่มีต่อตำนานทางศาสนาบางตำนานด้วยแหละ ว่ามัน “ถูกต้องดีงาม” แล้วหรือ ตั้งแต่ในตำนานกรีกที่เป็นที่มาของหนังเรื่องนี้แล้ว คือมันยุติธรรมแล้วหรือที่ต้องสังเวย Iphigenia ทั้งๆที่ตัว Iphigenia เองไม่ได้ทำอะไรผิด แล้ว Agamemnon ก็ไม่ได้ทำผิดอะไรร้ายแรงด้วย คือ Agamemnon อาจจะทำบาปและควรสำนึกผิด แต่มาตรการลงโทษที่ถูกต้องคืออะไร อะไรกันแน่คือ justice และ sacrifice ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ อีนังเทพเจ้า Artemis ต่างหากที่สมควรโดนตบที่เรียกร้องการชดเชยแบบนี้ เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างหากที่ควรถูกตั้งคำถาม คือแน่นอนว่า Agamemnon เป็นคนแรกที่ทำผิด แต่การพยายามชดเชยความผิดนี้ไม่ได้นำไปสู่ justice ที่แท้จริง แต่นำไปสู่ความชั่วร้ายที่หนักกว่าเดิม และเป็นความชั่วร้ายที่ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในสายตาของผู้มีอำนาจ

และมันไม่ได้มีแต่ในตำนานกรีกไง ตำนานในศาสนาอื่นๆก็ทำให้เราตั้งข้อสงสัยแบบเดียวกัน คือมันอาจจะมีบุคคล A ที่ทำผิดทำชั่ว แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบางศาสนากลับไปลงโทษคนอื่นๆ หรือไปเอาชีวิตคนอื่นๆที่ไม่ใช่บุคคล A แล้วมันยุติธรรมแล้วหรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นดีงามจริงๆหรือ หรือว่าตำนานทางศาสนาเหล่านี้เป็นเพียง fiction ที่แต่งขึ้นโดยผู้คนในอดีตเพื่อตอบสนองความเชื่อเรื่อง guilt, sin, justice และ sacrifice ที่บิดเบี้ยว และเพื่อผนวกเอา “เหตุการณ์ที่วิทยาศาสตร์ในยุคนั้นยังอธิบายไม่ได้” เข้ามาเป็นเครื่องมือเสริมฐานอำนาจให้แก่ลัทธิความเชื่อหรือศาสนาของตนเอง
                                                                                    
คือเหมือนศาสนาบางศาสนา, ลัทธิบางลัทธิ หรือนิกายบางนิกายมันสอนให้คนสำนึกผิด, มันกำหนดว่าอะไรบ้างที่เป็นบาป และอะไรคือสิ่งที่ควรทำเพื่อเป็นการชดเชยบาป และอะไรคือการเสียสละที่ควรกระทำ แต่ในบางครั้ง “สามัญสำนึก” ของเราเอง ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อบางประการในบางศาสนาน่ะ คือสามัญสำนึกของเราเอง บางทีก็ไม่เห็นว่าการทำสิ่งนี้เป็นบาปตามที่ศาสนาบอกมา หรือไม่เห็นด้วยว่า ถ้าหากเราทำบาปที่มีความรุนแรงระดับ 7 หน่วย แล้วกฎแห่งกรรมหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนานั้นจะลงโทษเราด้วยความรุนแรงระดับ 7 ล้านหน่วย หรือไม่เห็นด้วยว่า นั่นคือ “การเสียสละ” ที่ถูกต้อง เพราะเราไม่เชื่อว่าลูกเป็น “สมบัติ” ของพ่อแม่น่ะ ทำไมตำนานศาสนาบางอันถึง treat ลูกว่าเป็นสมบัติของพ่อแม่ล่ะ หรือว่าจริงๆแล้ว ความเชื่อทางศาสนาและตำนานทางศาสนาเหล่านี้ มันล้วนเป็น fiction ที่คนในอดีตแต่งขึ้นมา มันไม่ใช่ความจริง  (สิ่งที่เราทำ ก็คือเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกของตัวเองเท่านั้น คือเราเชื่อเรื่อง guilt, sin, justice และ sacrifice แต่ไม่ใช่เชื่อตามแบบที่คนอื่นๆบอกสอนมาทั้งหมด)

คือความสงสัยของเราที่มีต่อความเชื่อทางศาสนาเหล่านี้ มันไปสอดคล้องกับเรื่องราวใน THE KILLING OF A SACRED DEER โดยบังเอิญน่ะ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มากๆ 555 เพราะมันเห็นชัดเลยว่า ตัวละครในหนังมันเอา concept เรื่อง guilt, sin, justice และ sacrifice ไปใช้ในทางที่ผิด

2.ตอนแรกที่ดูหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องศาสนานะ แต่พอมีเรื่องคำสาปแช่ง, การฉวยโอกาสทำประโยชน์จากสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้, มีฉากจุมพิตเท้า, มีการใช้อิทธิพลผ่านความกลัว และมีการ “สังเวย” ในแบบที่ถูกต้องตามความเห็นของผู้มีอิทธิพล แต่ขัดกับมโนสำนึกของเรา เราก็เลยนึกถึงปัญหาของเราที่มีต่อตำนานทางศาสนาและความเชื่อทางศาสนาขึ้นมา

3.ชอบการแสดงแบบแข็งๆในช่วงแรกๆมาก คือไม่รู้ว่าผู้กำกับตั้งใจหรือเปล่า แต่การแสดงในช่วงแรกๆมันดูเหมือนตัวละคร “ท่องบท” มากกว่าแสดงเป็นมนุษย์จริงๆน่ะ มันเหมือนดูอะไรที่หลุดออกมาจากหนังสือเรียนสำหรับเด็กที่แสดงให้เห็นภาพ “ครอบครัวตัวอย่าง” อะไรทำนองนี้ และมันทำให้นึกถึงการแสดงแข็งๆแบบในหนังของ Robert Bresson ด้วย

4.การใช้ดนตรีแบบเกินจริงในเรื่องเราก็ชอบมากนะ มันฮาดี และมันแสดงให้เห็นว่า เราไม่เห็นจำเป็นต้องทำตามกฎที่ว่า “ดนตรีประกอบต้องไม่เด่นเกินหน้าหนัง” ซะหน่อย เพราะกฎเรื่อง “หนังที่ดีควรเป็นยังไง” มันก็เหมือนกับความเชื่อทางศาสนานั่นแหละ มันล้วนเป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มแต่งขึ้นมา และเชื่อกัน แต่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อตามนั้น และไม่เชื่อว่ากฎเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆกรณี

5.ชอบความเหนือธรรมชาติในหนังเรื่องนี้นะ มันทำให้นึกถึงหนังอีก 4 เรื่องที่เราชอบสุดๆน่ะ ที่เป็นเรื่องของคนแปลกหน้าที่เข้ามามีอิทธิพลต่อ “ครอบครัว” เหมือนกัน และมันมีความเหนือธรรมชาติอยู่ในหนัง 4 เรื่องนี้ด้วย

หนัง 4 เรื่องนี้ก็คือ

5.1 TEOREMA (1968, Pier Paolo Pasolini, Italy)
5.2 TO SLEEP WITH ANGER (1990, Charles Burnett)
5.3 BORGMAN (2013, Alex van Warmerdam, Netherlands)
5.4 CREEPY (2016, Kiyoshi Kurosawa, Japan)

แต่หนัง 4 เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เราคิดถึงประเด็นเรื่องความเชื่อทางศาสนาแบบ THE KILLING OF A SACRED DEER นะ เราว่าหนัง 5 เรื่องนี้แต่ละเรื่องก็อาจจะพูดถึงประเด็นที่แตกต่างกันไป แต่มันมีการใช้ตัวละครคนนอกที่มีพลังเหนือธรรมชาติและเป็นตัวละครที่เข้ามาสร้างความชิบหายให้แก่ครอบครัวคนธรรมดาเหมือนๆกัน


6.สรุปว่ารัก Yorgos Lanthimos มากๆ อันนี้เป็นหนังเรื่องที่สามของเขาที่เราได้ดู ต่อจาก DOGTOOTH และ THE LOBSTER เราว่าหนังของเขามีสไตล์ที่จัดเกินไปหน่อยหรือหนักมือเกินไปนิดนึงสำหรับเรานะ แต่เขาก็คุมโทนหนังของเขาให้เข้าทางเราได้ดี และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ประเด็นในหนังของเขามันสอดคล้องกับความเชื่อของเราน่ะ ทั้งความเชื่อเรื่องการกำหนดความหมายให้แก่คำหรือค่านิยมต่างๆใน DOGTOOTH (ค่านิยมที่พ่อแม่สั่งสอนเรามา มันเชื่อถือได้จริงๆเหรอ), การตั้งคำถามต่อความเชื่อของคนในสังคมเรื่องการมีคู่ ใน THE LOBSTER และการที่หนังทำให้เราคิดถึงความสงสัยที่มีต่อตำนาน+ความเชื่อทางศาสนาใน THE KILLING OF A SACRED DEER

No comments: